ผู้ผลิตจ่อปรับราคาสินค้าหลังต้นทุนพุ่ง ด้านพาณิชย์ขึ้นราคาต้องขออนุญาต

ผู้ผลิตจ่อปรับราคาสินค้าหลังต้นทุนพุ่ง ด้านพาณิชย์ขึ้นราคาต้องขออนุญาต

กรมถ้าจะขึ้นราคาขาย ต้องทำเรื่องมาที่กรม พร้อมพิจารณาให้เป็นรายๆ แต่ยืนยัน ขณะนี้ยังขอความร่วมมือตรึงราคา และไม่มีนโยบายให้ขึ้นราคาแน่นอน ด้านหอการค้าไทย-จีน เผย ต้นทุนพุ่ง ทำให้ผู้ผลิตเตรียมขึ้นราคาสินค้าแน่ภายใน 1-2เดือน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเตรียมปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นว่า กรมได้หารือกับผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง และผู้ผลิตแจ้งว่า เป็นการปรับขึ้นราคาขายส่งที่ส่งให้กับร้านค้า หรือเป็นการลดส่วนลดทางการค้าที่ผู้ผลิตให้กับร้านค้าเท่านั้น และไม่มีผลทำให้ราคาขายปลีก ซึ่งเป็นราคาปลายทางสู่ผู้บริโภคต้องปรับขึ้น โดยผู้ผลิตยืนยันว่า จะยังให้ความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ ตรึงราคาขายต่อไปจนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าผู้ผลิตนมสด และนมข้นหวานกระป๋องรายใหญ่ เตรียมปรับขึ้นราคาขายในเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะทินเพลต (เหล็กทำกระป๋องบรรจุ) มีราคาสูงขึ้นนั้น กรมจะต้องพิจารณาโครงสร้างต้นทุนก่อนว่าเพิ่มจริงหรือไม่ หากเพิ่มขึ้นจริง เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดได้ สินค้าอื่นๆ ก็เช่นกัน หากจะขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องทำเรื่องมาที่กรม และจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ยืนยันว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาขาย และกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาขาย

ผู้ผลิตจ่อปรับราคาสินค้าหลังต้นทุนพุ่ง ด้านพาณิชย์ขึ้นราคาต้องขออนุญาต

 

สำหรับกรณีที่สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทยทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ยกเลิกมาตรการตรึงราคาปุ๋ยเคมี หลังราคาปรับสูงขึ้นเพราะผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และรัสเซีย ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยอีกนั้น กรมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ค้ามาโดยตลอด และยังขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือตรึงราคาขาย หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คงต้องพิจารณาร่วมกันอย่างละเอียด รอบคอบที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“ขณะนี้ สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปยังอยู่ในช่วงของความร่วมมือตรึงราคาขาย โดยเฉพาะสินค้าใน 18 กลุ่ม เช่น เนื้อสัตว์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปุ๋ยเคมี-ย่าจำกัด หรือปราบศัตรูพืช เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และกระทรวงพาณิชย์ไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคา ซึ่งผู้ประกอบการเข้าใจสถานการณ์ดี แต่กระทรวงพาณิชย์จะพยายามทำให้ทุกฝ่ายอยู่ได้อย่างเป็นธรรม ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค”

ส่วนสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ว่า ล่าสุด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือกันเพื่อหามาตรการลดผลกระทบให้กับทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ และผู้ใช้ คือ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งผู้ผลิตอาหารสัตว์ มีหลายข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ที่ปัจจุบันเก็บที่ 2%, ลดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดเลี่ยงสัตว์ในประเทศ ที่ปัจจุบันกำหนด 3 ต่อ 1 , ขยายเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำหนดเดือนก.พ.-ก.ย.ของทุกปี เป็นต้น

 

จะต้องพิจารณาผลดี ผลเสียของทุกข้อเสนอ รวมถึงหากเห็นชอบให้ใช้ข้อเสนอใดแล้ว ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ หรือเกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น ข้าวโพด ไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย โดยหากได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรแต่ละชนิด รวมถึงคณะกรรมการนโยบายอาหาร พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย”

ด้านร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการขอปรับราคาสินค้าต่อกรมฯ แต่กรมฯก็ขอความร่วมมือให้ช่วยตรึงราคา ปัจจุบันไม่มีการอนุญาตแม้แต่รายเดียว อย่างไรก็ตามกรมก็ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทุกวัน โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจสถานการณ์ราคาสินค้าทั้งกทม.และต่างจังหวัด หากพบว่า มีจำหน่ายราคาแพงเกินสมควร หรือไม่ติดป้ายแสดงราคาก็จะถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

สำหรับราคา ‘มะนาว’ ที่ขณะนี้ราคาปรับตัวสูงขึ้นลูก5-7 บาท เฉลี่ยทั่วประเทศราคา4.35 บาทต่อลูก ราคาที่สูงขึ้นจากปัญหาของภัยแล้งและเป็นไปตามฤดูกาล แต่ราคามะนาวเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4.93 บาทซึ่งปีนี้ยังราคาถูกกว่า ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ก็จะดูแลผู้บริโภค โดยเร็วๆนี้จะเปิดโครงการพาณิชย์ลดราคาล็อตที่ 17 เพื่อลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคต่อไป

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย -จีน กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน ได้สำรวจความของสมาชิกพบว่า จากสถานการณ์เงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลก ที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น รวมถึงประเทศไทย ประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่ม ส่งผลต่อต้นทุนต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่กระทบต่อต้นทุนมากกว่า10% ขึ้นไปทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องมีการปรับราคาสินค้าขึ้นภายใน 1-3 เดือนนี้ นอกจากนี้ยังประเมินว่า ภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของภาวะเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด