BBL ยกระดับแบงก์ สู่ ‘ธนาคารดิจิทัล’ คาดปี65 ยอดใช้ดิจิทัลแตะ 14ล้านบัญชี
แบงก์กรุงเทพ เดินหน้าแผนยุทธ์ศาสตร์ มุ่งสู่การเป็น “ธนาคารดิจิทัล” เร่งยกระดับการให้บริการบนดิจิทัล เตรียมเปิดฟีเจอร์ใหม่ ปล่อยกู้ผ่านแอปภายในครึ่งปีแรกนี้ หวังเจาะฐานลูกค้าอีคอมเมิร์ซ เอสเอ็มอีขนาดเล็ก คนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าสินเชื่อยอดใช้ดิจิทัลแตะ14ล้านบัญชี
นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL กล่าวว่า แผนยุทธ์ศาสตร์ของธนาคารในปีนี้ คือการเดินหน้าสู่การเป็น “ธนาคารดิจิทัล” โดยการยกระดับการให้บริการบนดิจิทัล ผ่านโมบายแบงกิง เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าบนยุคดิจิทัลมากขึ้น
ล่าสุด ธนาคารมีแผนเปิดให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลผ่านโมบายแบงกิง ทั้งดิจิทัลเลนดิ้ง สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่สามารถสมัครขอสินเชื่อได้ผ่านแอป
โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในครึ่งปีแรก 2565 นี้ โดยหวังเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าใหม่ๆมากขึ้น เช่น กลุ่มอีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก รวมถึงฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่
“การปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัล เราคงมีเซ็กเมนท์ของตัวเอง โดยเราเลือกเฉพาะกลุ่มที่ผ่านมา เฉพาะลูกค้าแบงก์ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ต่อไป ธนาคารจะขยายเซ็กเมนท์ไปอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นอีคอมเมิร์ซ เอสเอ็มอีขนาดเล็กเพราะเหล่านี้เราเห็นกระแสเงินสด เรารู้จักเขาได้มากขึ้น รวมถึงเด็กจบใหม่ นักศึกษา ทำให้หลังๆเราทำโซลูชันร่วมกับมหาิทยาลัย เกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัตรรถไฟฟ้า และเข้าไปสนับสนุนเกี่ยวกับเกมออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้เรามีฐานลูกค้าใหม่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาในพอร์ต”
อย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่ยุทธ์ศาสตร์ของธนาคาร สู่ “ธนาคารดิจิทัล” สิ่งที่สำคัญ คือการเร่งปรับบริการทุกด้านธนาคาร ไปสู่ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าของธนาคาร และลูกค้าใหม่ๆหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น
โดยหากดูลูกค้าบนดิจิทัลของธนาคาร บนโมบายแบงกิง พบว่าปัจจุบันมีอยู่ราว 30 % หรือราว 10 ล้านบัญชี หากเทียบกับฐานลูกค้าเงินฝากของธนาคารที่มีราว 17 ล้านคน
ดังนั้นเชื่อว่าการเร่งยกระดับการให้บริการไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น จะทำให้เห็นสัดส่วนลูกค้าขึ้นมาอยู่บนดิจิทัลมากขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าเห็นฐานลูกค้าบนดิจิทัลเพิ่มอีก 3-4 ล้านคน สู่ 14 ล้านคน
ส่วนการเติบโตด้านดิจิทัล และจำนวนการทำธุรกรรมบนดิจิทัล ธนาคารเชื่อว่า จะเห็นการเติบโตของการใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นตัวเท่าหรือ 100% ในปีนี้
และจำนวนทรานเซกชั่นเติบโตมากกว่า 75% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของปี 2564