‘คลังสินค้า-โลจิสติกส์’เซฟโซนใหม่!อสังหา'ลดเสี่ยง-สร้างรายได้ประจำ'

‘คลังสินค้า-โลจิสติกส์’เซฟโซนใหม่!อสังหา'ลดเสี่ยง-สร้างรายได้ประจำ'

ฝันร้ายของอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย! ทุกเซ็กเมนต์หลักไม่ว่าจะเป็นคอนโด ทาวน์เฮ้าส์หนักสุดโรงแรม อาคารสำนักงานรีเทลล้วนได้รับเอฟเฟกต์โควิดจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน!เป็นความเสี่ยงที่เกินกว่าจะแบกรับและต้องมองหาโอกาสใหม่&รายได้ประจำจากคลังสินค้า-โลจิสติกส์

“กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ มองว่า การขยายไปลงทุนในธุรกิจคลังสินค้า โลจิสติกส์ ของกลุ่มอสังหาฯ นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพและลงทุนต่ำเทียบคอนโดมิเนียม จะเห็นว่าไลฟ์สไต์คนยุคนิวนอร์มอลนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีที่สต็อกสินค้า รวมทั้งโซลูชั่นการบริหารจัดการสินค้า การขนส่งต่างๆ 

“ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีในการเป็นศูนย์กลาง คลังสินค้า โลจิสติกส์ ในช่วงเวลาที่อสังหาฯ ยังไม่ฟื้นตัว”

เช่นเดียวกับ “ภัทรชัย ทวีวงศ์” ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานในประเทศไทยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2564) มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ยังมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง

โดยมีธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อีกทั้งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในทิศทางเดียวกันทั้งธุรกิจขนส่ง ขนถ่ายสินค้า ดีลิเวอรี ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 

ในครึ่งหลังปี 2564 คลังสินค้าและโรงงานมีอัตราการเช่าสัญญาใหม่กว่า 170,000 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 13.3% จากช่วงครึ่งแรกของปีเดียวกัน ส่งผลให้ปี 2564 มีการเช่าสัญญาใหม่รวม 320,000 ตร.ม.

โดยบิ๊กเพลย์เยอร์ อย่าง ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล ยังปล่อยเช่าพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซซึ่งลูกค้าสนใจเช่าพื้นที่คลังสินค้าในรูปแบบคลังสินค้าสำเร็จรูป ( Built-to-Suit)

“ครึ่งหลังปีที่ผ่านมา พื้นที่คลังสินค้าและโรงงานในประเทศไทยถูกใช้ไป 6.335 ล้านตร.ม. จากพื้นที่ทั้งหมด 7.183 ล้านตร.ม. คิดเป็น 88.2% เพิ่มขึ้น 0.6% จากครึ่งปีแรก”

สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีอัตราการเช่าสูงที่สุดอยู่ที่ 92.4% ของพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานทั้งหมด ตามด้วยสมุทรปราการ มีความต้องการด้านโลจิสติกส์และอิเล็กทรอนิกส์สูง เพรามีการเชื่อมต่อกับศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้า มีอัตราการเช่า 91.2% ตามด้วยพื้นที่ “อีอีซี” มีอัตราการเช่า 77.9%

ภาพรวมอุปทานคลังสินค้าและโรงงานเปิดบริการใหม่ช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมายังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 3.2% จากช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ครึ่งหลัง ปี 2564 อุปทานสะสมพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานในพื้นที่สมุทรปราการยังคงสูงสุด คิดเป็น 38% หรือ 2.69 ล้านตร.ม. ตามมาด้วยพื้นที่อีอีซี 33% หรือ 2.31 ล้านตร.ม

โดยราคาค่าเช่าเฉลี่ยพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานทุกพื้นที่ครึ่งหลังปี 2564 อยู่ที่ 157 บาทต่อตร.ม.เพิ่มขึ้น 1.29% พื้นที่กรุงเทพฯ ค่าเช่าเฉลี่ยสูงสุด 180 บาทต่อตร.ม. บางแห่งสูงกว่า 200 บาทต่อตร.ม. (สัญญาเช่า 3 ปี) ตามด้วยสมุทรปราการ 156 บาทต่อตร.ม. อีอีซี 153 บาทต่อตร.ม. คาดว่าปี 2565 ค่าเช่าเพิ่มขึ้น 1.5-2%

“ภาพรวมธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าปี 2565 ดีมานด์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามนโยบายส่งเสริมพื้นที่อุตสาหกรรมของรัฐบาล”


‘คลังสินค้า-โลจิสติกส์’เซฟโซนใหม่!อสังหา\'ลดเสี่ยง-สร้างรายได้ประจำ\'

“เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า เสนาฯ ทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ภายใต้กลยุทธ์ “SENA Next” สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง ด้วยการแสวงหาโอกาสและธุรกิจใหม่ หนึ่งในธุรกิจที่เสนาฯ สนใจ คือ “SENA WAREHOUSE” ให้เช่าคลังสินค้าพร้อมบริหารจัดการครบวงจร เพื่อสร้างฐานรายได้ประจำ (Recurring Income) จะมีการร่วมทุนกับพันธมิตรเปิดตัวในไตรมาส 2

“จักรรัตน์ เรืองรัตนากร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด กล่าวว่า อสังหาฯ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขาลง บริษัทจึงหันมาลงทุนในธุรกิจที่ไม่ถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีอย่าง โรงงานปุ๋ย ดิจิทัลไฟแนนซ์ และแวร์เฮ้าส์ ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะเห็นโอกาสมหาศาล!

โดยได้เปิดตัวโครงการ “Warehouse Park” ใจกลางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองร่วมกับ FLS Logistic สัญชาติเยอรมัน ที่มีเครือข่ายกว่า 10 ประเทศทั่วโลก จัดตั้ง บริษัท เอฟแอลเอส ซัพพลายเชน เซ็นเตอร์ (ระยอง) จำกัด ให้บริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์ครบวงจระดับภูมิภาค รองรับลูกค้าที่ต้องการคลังสินค้าเคมีภัณฑ์และบรรจุเคมีภัณฑ์ครบวงจรในประเทศไทย

“Warehouse Park” ตั้งอยู่ใน 5 นิคมอุตสาหกรรมในเขตอีอีซี ได้แก่  มาบตาพุด บ่อวิน อมตะชลบุรี เวลโกรว์ บางนา-ตราด บ้านค่ายระยอง รวมกว่า 200,000 ตร.ม.

ก่อนหน้านี้ “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” ร่วมทุนกับ “เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์” ก่อตั้ง บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด ในสัดส่วน 50:50 ลงทุนอสังหาฯ เพื่อการอุตสาหกรรมพร้อมบริการครบวงจร ภายใต้แบรนด์ “แอลฟา” ขณะที่ “แสนสิริ” ร่วมกับ “พรอสเพค” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของมั่นคงเคหะการ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บีเอฟทีแซด บางปะกง รุกธุรกิจคลังสินค้าและอาคารโรงงาน ประเดิม “Bangkok Free Trade Zone” (BFTZ) บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ และเป็นพื้นที่สีม่วงที่ใหญ่ที่สุดในย่านบางนา-ตราด