ปศุสัตว์แนะใช้วัตถุดิบทดแทน ชี้ไม่มีอำนาจยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่ว 2 %
กรมปศุสัตว์ หวั่นอาหารสัตว์แพงกระทบอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ หนุนใช้วัตถุดิบในประเทศ ชี้ข้อเสนอลดภาษีนำเข้ากากถั่ว 2 % เลิกอัตรา3ต่อ1นำเข้าข้าวสาลีเป็นอำนาจกระทรวงพาณิชย์
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์มีข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีโดยต้องซื้อข้าวโพดภายในประเทศ 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควตา ภาษีและค่าธรรมเนียม
เนื่องจากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารจัดการและการขนส่งสูงขึ้น สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน(Climate change) ของประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักของโลก
ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญต่อประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำให้การส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์หยุดชะงักไป เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำให้มีราคาสูงขึ้น นั้น
กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านคุณภาพและมาตรฐานอาหารสัตว์ ได้มีความเห็นและมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีมูลค่าสูงมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
จากสถานการณ์การขาดแคลนและราคาที่สูงขึ้นของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีผลกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการด้านอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภค เนื่องจากอาหารสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญในภาคปศุสัตว์ จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่รองรับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้นต้องมีมาตรการในการหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนซึ่งมีแหล่งที่มาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ในส่วนของข้อเสนอของผู้ประกอบการอาหารสัตว์ที่ให้มีการยกเลิกเงื่อนไขการนำเข้าข้าวสาลี การเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควตา ภาษีและค่าธรรมเนียม นั้น เป็นอำนาจในการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง โดยกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านคุณภาพและมาตรฐานของอาหารสัตว์ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558
อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้พัฒนาและแนะนำสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าอยู่แล้ว เช่น มันสำปะหลัง (มันเส้น กากมัน) ข้าว (ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวกระเทาะเปลือก) ข้าวโพด รำข้าว กากปาล์ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบบางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ผลิตอาหารสัตว์ หากใช้ปริมาณที่ไม่เหมาะสมในสูตรอาหารสัตว์ อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ ผลผลิต หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้