ปิดเกมโควิดสู่ "โรคประจำถิ่น" 1 ก.ค. จับตายกเลิกไทยแลนด์พาสปลดล็อกทัวริสต์
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” ตั้งเป้าปฏิบัติการ 4 เดือน ภายใน 1 ก.ค.2565 สิ่งที่ต้องจับตาคือการปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร
เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มเติมแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก้าวสู่การ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ!”
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วันที่ 18 มี.ค.นี้ ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จะมีการพิจารณาปรับมาตรการการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ให้สอดรับกับมติดังกล่าวของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยจะดูขีดความสามารถการแข่งขันในการเปิดประเทศบนพื้นฐานความปลอดภัยของคนไทย หลังจากหลายประเทศมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
“เมื่อมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค.2565 อาจนำไปสู่การยกเลิกไทยแลนด์พาส (Thailand Pass)”
แม้ไทม์ไลน์การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นจะตรงกับช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือ “โลว์ซีซั่น” ของภาคท่องเที่ยวไทย แต่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจาก “อาเซียน” และ “อินเดีย” เดินทางเข้ามาจับจ่ายในไทยมากขึ้น
หลังประเทศเวียดนามประกาศเปิดประเทศ เริ่มวันที่ 15 มี.ค.นี้ ประเทศมาเลเซียประกาศเปิดพรมแดนอีกครั้งในวันที่ 1 เม.ย.นี้ หนุนการท่องเที่ยวผ่านด่านชายแดน และประเทศอินเดียที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้จัดทำความตกลง Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ขณะที่นักท่องเที่ยวยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักในช่วงแรกๆ ของการเปิดประเทศ อาจชะลอการเดินทางเข้าไทยตามฤดูกาล เนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อน จึงเน้นท่องเที่ยวภายในยุโรปมากกว่า
“อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยขณะนี้ ยังมีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แก่นักท่องเที่ยวด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 1 ในวันแรกที่เดินทางถึงไทย และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ด้วย Self ATK ในวันที่ 5 เนื่องจากยังพบยอดนักท่องเที่ยวติดเชื้ออยู่ และทุกอย่างต้องเป็นไปตามไทม์ไลน์มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ หลังภาคเอกชนท่องเที่ยวต่างแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าอยากให้ยกเลิกระบบ Test & Go”
ส่วนเรื่องการจัดงานเทศกาล “สงกรานต์” หากที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ไม่มีมาตรการสั่งงดการจัดงานสงกรานต์ ททท.ก็จะเดินหน้าจัดงานฯและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้สอดรับกับหลักการที่ ศบค.อนุมัติ โดย ททท.จะพิจารณาเลือกพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดอีกครั้ง ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดนั้นๆ ด้วย
ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงวิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ว่า เป็นปัจจัยกดดัน “ราคาน้ำมันแพง” และ “เงินเฟ้อ” ส่งผลกระทบต่อ “ต้นทุนการเดินทาง” รวมถึงจิตวิทยาการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องขอติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวไทยต้องขอประเมินกระแสการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่าเป็นอย่างไร
จากนั้น ททท.ถึงจะ “ทบทวนเป้าหมาย" ของภาคท่องเที่ยวไทย ซึ่งตั้งเป้าปี 2565 มีรายได้รวมที่ 1.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ตลาดต่างประเทศ 625,800 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน และรายได้ตลาดในประเทศ 656,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้ง
“น้ำมันแพงกับเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยว แม้จะไม่ส่งผลต่อความถี่ด้านการเดินทางมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางแล้ว แต่จะส่งผลกระทบในแง่การใช้จ่ายโดยตรง ซึ่ง ททท.พยายามคงเป้ารายได้รวมปีนี้ให้ได้ที่ 1.28 ล้านล้านบาท เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศ”
ด้านการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวรัสเซียและยูเครนซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในไทยประมาณ 8,000 คน ส่วนใหญ่ท่องเที่ยวในภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) กระบี่ และพังงา ททท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ช่วยเหลือทั้ง 3 กลุ่มความต้องการ ได้แก่ 1.กลุ่มที่ต้องการเดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่เดินทางกลับไม่ได้ เพราะไม่มีเที่ยวบิน ได้สื่อสารให้นักท่องเที่ยวไปขึ้นทะเบียนกับสถานทูตเพื่อแจ้งความประสงค์เดินทางกลับ 2.กลุ่มที่ยังท่องเที่ยวในไทย แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรด้านการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ จึงได้หาทางออก นำระบบชำระเงินทางเลือกอื่นมารองรับ และ 3.กลุ่มที่ตกค้างจริงๆ ด้วยการหาที่พักและเที่ยวบินเดินทางกลับ