"ยื่นภาษี" อย่างไร ? เมื่อทำงานหลายอาชีพ มีรายได้จากหลายทาง

"ยื่นภาษี" อย่างไร ? เมื่อทำงานหลายอาชีพ มีรายได้จากหลายทาง

เปิดวิธี "ยื่นภาษี" สำหรับคนที่ทำงานหลายอาชีพ มีรายได้จากหลายทาง เช่น ทำทั้งงานประจำ รับงานพิเศษ ขายของออนไลน์ รับงานที่ปรึกษา ฯลฯ

ในช่วงวิฤติโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนมุมมอง หาอาชีพเสริมและทำงานอื่นๆ เพื่อหารายได้เพิ่ม รวมถึงวางแผนขยับขยายโอกาสทางอาชีพในอนาคตที่ไม่แน่นอน การมีหลายอาชีพ หรือมีรายได้จากหลายทางจึงเป็นเรื่องปกติของคนรุ่นใหม่ เช่น ทำงานประจำ รับงานจ้างทำงานพิเศษ ขายของออนไลน์ รับเป็นที่ปรึกษาตามความเชี่ยวชาญ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูปเบอร์ ฯลฯ

เป็นเรื่องที่ดีที่สามารถหารายได้จากหลายทาง แต่สิ่งมองข้ามไปไม่ได้เมื่อมีรายได้เข้ามา คือเรื่อง "ภาษี" ที่ผู้มีเงินได้ทั้งหลายต้อง "ยื่นภาษี" ตามกฎหมายให้ถูกต้อง และไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคนขยันที่ทำงานหลายอาชีพทั้งหลายมาทำความเข้าใจการยื่นภาษี สำหรับผู้ที่ทำงานแล้วมีรายได้หลายทาง หลายอาชีพ ดังนี้

  •  มีรายได้รวมเท่าไร ถึงต้องยื่นภาษี 

- คนโสดมีรายได้เกิน 60,000 บาท/ปี

- คนที่มีคู่สมรส มีรายได้รวมกันเกิน 120,000 บาท/ปี

 

  •  คำนวณภาษีอย่างไร ? 

การคำนวณภาษี ตามคำแนะนำของ กรมสรรพากร สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้ 

 

วิธีแรก (วิธีปกติ) รายได้สุทธิ (รายได้ทั้งปีหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

\"ยื่นภาษี\" อย่างไร ? เมื่อทำงานหลายอาชีพ มีรายได้จากหลายทาง

 

วิธีที่สอง กรณีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีรายได้มากกว่า 120,000  บาท/ปี (ไม่รวมเงินเดือน) สามารถใช้สูตรคำนวณ = รายได้สุทธิ x 0.5% แล้วเปรียบเทียบกับวิธีคำนวณตามปกติ หากวิธีนี้มีภาษีเกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่สูงกว่า (หากไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามการคำนวณปกติ)

 

  •  ต้องยื่นภาษีตอนไหนบ้าง 

สำหรับผู้ที่ทำทั้งงานประจำและมีรายได้อื่นๆ จากหลายทางจะต้องดูว่า รายได้ของเราจัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด จากเงินได้ทั้ง 8 ประเภทตามประมวลกฎหมายรัษฎากร

\"ยื่นภาษี\" อย่างไร ? เมื่อทำงานหลายอาชีพ มีรายได้จากหลายทาง

 

เช่น เงินได้ส่วนที่เป็น "เงินเดือน" จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามมาตรา 40 (1) การหักค่าใช้จ่ายหักเหมาได้ 50%

กรณี "รับจ้างทั่วไป" รับจ้างทำของ รับงานอิสระ จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) การหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท

กรณี "ขายสินค้า" ออนไลน์หรือขายสินค้าต่างๆ จะจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 หักเหมา 60% หรือหักตามจริง (ต้องมีเอกสารหลักฐาน)

ทั้งนี้ สำหรับคนที่มีรายได้จากการขายสินค้า ที่อยู่ภายใต้โครงการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น “คนละครึ่ง” “เราชนะ” หรือ “ม.33 เรารักกัน” ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่นำมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย โดยจะต้องนำมารวมทั้ง 3 ส่วนคือทั้ง เงินได้จากลูกค้าผ่านโครงการภาครัฐ เงินสนับสนุนที่ได้จากรัฐ และเงินได้ที่มาจากยอดขายอื่นๆ

 

  •  ทำหลายอาชีพต้องยื่นภาษีตอนไหนบ้าง ? 

สำหรับผู้ที่มีรายได้จากช่องทางต่างๆ จะต้องยื่นภาษีตามประเภทเงินได้ของตัวเอง ตามเงื่อนไข ดังนี้

รอบแรก: ยื่นภาษีกลางปี ยื่นช่วงเดือนก.ค.- ก.ย. ของปีนั้นๆ (แบบ ภ.ง.ด. 94) เป็นการยื่นสรุปรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) โดยรอบนี้จะสามารถใช้ค่าลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่ง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทจะเหลือ 30,000 บาท

รอบสอง: ยื่นภาษีสิ้นปี กำหนดยื่นช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. ของปีถัดไป (แบบ ภ.ง.ด. 90) จะเป็นการยื่นสรุปทั้งปีที่ผ่านมา โดยนำเงินได้ทุกประเภทตั้งแต่เดือนม.ค.- ธ.ค. ของปีนั้น รวมคำนวณและนำภาษีที่ชำระไปแล้วตาม ภ.ง.ด. 94 มาเป็นเครดิตภาษีหักลบได้

ทั้งนี้ ถ้าผู้ที่มีรายได้จากการขายสินค้าต่างๆ อาจต้องจ่าย "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ด้วย ในกรณีที่มีรายได้ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT โดยเสียภาษีอยู่ที่ 7% ของรายได้ ที่สำคัญคือ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท (พืชผลทางการเกษตร สัตว์ ตำราเรียน ส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

หากมีภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการก็ต้องยื่นภาษีทุกๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออก "ใบกำกับภาษี" ให้กับผู้มาใช้บริการด้วย

--------------------------------------------

อ้างอิง:  กรมสรรพากร 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์