MONEY AND STOCK MARKET (7-11 มีนาคม 2565)

MONEY AND STOCK MARKET (7-11 มีนาคม 2565)

เงินบาทยังอ่อนค่า แม้หุ้นไทยดีดกลับปลายสัปดาห์ - เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่งที่ 33.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความวิตกต่อวิกฤติยูเครน

•    หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน แต่แรงขายหนักช่วงต้นสัปดาห์จากสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ยังคงปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน   
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 33.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียอ่อนค่าลงเกือบตลอดสัปดาห์ตามทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกซึ่งเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลังจากการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซียรอบที่ 4 สิ้นสุดลงโดยปราศจากข้อสรุป ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่คาดและยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีก ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงต้องเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน 

ในวันศุกร์ (11 มี.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 มี.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 7-11 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 675.96 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 4.15 หมื่นล้านบาท 
 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของ Fed, BOE และ BOJ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนและข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนก.พ. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน แม้ฟื้นตัวปลายสัปดาห์ โดยดัชนีหุ้นไทยร่วงลงมากกว่า 50 จุดในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ อัตราเงินเฟ้อของไทยที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ยังน่ากังวล อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ หลังจากที่หุ้นไทยร่วงลงแรงก่อนหน้านี้

 

MONEY AND STOCK MARKET (7-11 มีนาคม 2565)

 

ในวันศุกร์ (11 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,658.01 จุด ลดลง 0.82% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 114,291.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.60% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ร่วงลง 1.97% มาปิดที่ 618.54 จุด     

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,630 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,680 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (15-16 มี.ค.) สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ.ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และยอดค้าปลีก