ทุนจีนเดินหน้าลงทุน “ไทย” เร่งผลิตบุคลากรป้อนเอกชน

ทุนจีนเดินหน้าลงทุน “ไทย” เร่งผลิตบุคลากรป้อนเอกชน

แนวโน้มลงทุนจากจีนปี 2565 ยังสดใส หากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โดยรัฐบาลจีนมีนโยบายมุ่งส่งเสริมการลงทุนในอาเซียนรวมถึงไทย อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ยานยนต์ไฟฟ้า ยา และพลังงานสะอาด ด้านทักษะแรงงานไทยจึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อสร้างข้อได้เปรียบด้านการลงทุน 

หวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 มูลค่าการลงทุนจีนในไทยอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 27% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดี แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จึงคาดว่า ปี 2565 เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็จะยิ่งทำให้การลงทุนจากจีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยมิตรภาพอันดีระหว่างไทยและจีนก็เป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายการลงทุน

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีการผลักดันเรื่องการพัฒนาสู่ อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Model และการส่งเสริมลงทุนต่างชาติในไทย โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานให้มีความเข้มแข็ง จึงเป็นที่น่าดึงดูดของนักลงทุนอย่างมาก โดยรัฐบาลจีนเองมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยในด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ยานยนต์ไฟฟ้า ยาและพลังงานสะอาด

ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมาจีนได้มีการลงทุนในอาเซียนรวมถึงไทยมากขึ้น โดยในอนาคตความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนจะเป็นตัวกำหนดและผลักดันเรื่องการค้าการลงทุนทั้ง 2 ประเทศ

จีนแสนอ 2 ข้อ ฉลุยลงทุน

อย่างไรก็ตาม บนพื้นฐานความร่วมมือที่ผ่านมาจีนได้มีข้อเสนอแนะ 2 เรื่อง ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในอนาคต ได้แก่

1.รองรับนักลงทุนจีนในนิคมอุตสาหกรรมในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากจีน

สำหรับในช่วงแรกของการลงทุนในไทยพบว่า นักลงทุนจีนจะมีความต้องการนำเข้าแรงงานทักษะสูงบางสาขา เพื่อการประกอบเครื่องจักร ก่อตั้งโรงงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ยังหวังว่าในอนาคตแรงงานท้องถิ่นในไทยจะสามารถทดแทนกลุ่มแรงงานนำเข้าได้ทั้งหมด 100% โดยเสนอให้มีการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากจีนเพื่อมาเป็นผู้ฝึกสอนและพัฒนาบุคคลากรไทย

สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีความต้องการแรงงานมูลค่าต่ำกว่าในประเทศตัวเอง โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมบุคลากรภาคอุตสาหกรรมไทย-จีน 

รวมทั้ง มีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยองไทย-จีนจำกัด ร่วมลงนามความร่วมมือด้วย เพื่อสนับสนุนนักศึกษาที่มีความสามารถในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจให้มีแรงงานที่มีศักยภาพสูงตรงความต้องการ

สุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และมองว่าการดำเนินการจัดทำบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการจีนในไทย แต่อาจขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำการขยายตลาดไปยังประเทศจีนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการSMEs ที่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

วีรชัย มั่นสินธร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ได้หารือกับ บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพัฒนาอุตสหากรรมระยองไทย-จีน จำกัด เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ และความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการจีน จึงนำไปสู่การร่วมมือความร่วมมือ 3 ฝ่าย ในครั้งนี้ เพื่อเป็นช่องทางในการจับคู่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม

รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวเสริมว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติและ ส.อ.ท.ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Cross Border E-Commerce (China : Connect) บนแพลต์ฟอร์ม FTI Academy มุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยนำสินค้าเข้าไปในตลาดผู้บริโภคชาวจีน โดยที่ผ่านมามีผู้สมัครผ่านแพลตฟอร์ม 318 คน โดยจะเป็นการยกระดับในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงานและนักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย

จ้าว ปิง ประธาน บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยองไทย-จีน จำกัด กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องในการจัดทำความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อขยายโอกาสในการทำงานแก่นักศึกษาที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และยังตอบโจทย์กับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการจีนในไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจในไทยได้สะดวกขึ้น

สำหรับช่วงปี 2563-2564 มีลูกค้าเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯ 30 ราย ผ่านการเจรจาออนไลน์ อย่างไรก็ตามมองว่าในอนาคตหลังสถานการณ์โควิดจะมีนักลงทุนจีนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และความต้องการสร้างซัพพลายเชนใหม่ขึ้นในภูมิภาคอาเซียนเพื่อบรรเทาปัญหาการผลิตที่ต้องหยุดชะงักในช่วงโควิด

ทุนจีนเดินหน้าลงทุน “ไทย” เร่งผลิตบุคลากรป้อนเอกชน การลงทุนในอีอีซี ปี 2564 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 219,922 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 34% คิดเป็นสัดส่วน 34% ของมูลค่าคำขอส่งเสริมทั้งประเทศ ในขณะที่ประเทศที่เข้ามาลงทุนอีอีซีสูงสุด คือ ญี่ปุ่น 19,445 ล้านบาท รองลงมาเป็นจีน 14,183 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ 9,624 ล้านบาท