โรดแมพ “ดาว” คาร์บอนศูนย์ นวัตกรรมหนุน “อีวี-บรรจุภัณฑ์-ก่อสร้าง”

โรดแมพ “ดาว” คาร์บอนศูนย์ นวัตกรรมหนุน “อีวี-บรรจุภัณฑ์-ก่อสร้าง”

“ดาว” เปิดโรดแมพคาร์บอนศูนย์ มุ่งธุรกิจยั่งยืน สร้างสมดุลมนุษย์กับธรรมชาติ เดินหน้า “นวัตกรรม-เทคโนโลยี” สร้างผลิตภัณฑ์ยั่งยืน เพิ่มโอกาสธุรกิจ หนุนอาคารสีเขียว พัฒนาวัสดุศาสตร์ป้อน “อีวี” บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมดันไทยก้าวสู่ “เน็ต ซีโร่”

กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย (Dow) และกรุงเทพธุรกิจ ร่วมจัดสัมมนา FAST TRACK to the NET ZERO เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2565 โดยมีผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศร่วมนำเสนอความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ จากเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมที่จะช่วยให้ธุรกิจรักษาความสามารถในการแข่งขัน

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า ดาว จะเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลสำคัญของการลดคาร์บอน เพื่อก้าวไปถึง Net Zero ดังนั้น สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของโลกจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อมีการบริโภคที่ยั่งยืน มีธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมจะเป็นตัวนำพาให้ถึงเป้าหมาย 

ทั้งนี้ หลายองค์กรและหลายประเทศเริ่มกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว โดยไทยตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ปี 2065 ที่ดูเหมือนอีกนาน แต่มาตรการที่เกี่ยวข้องกำลังเกิดขึ้น ดังนั้น ทุกคนมีส่วนร่วมได้ 2 ส่วน คือ 1.รอให้มาตรการเกิดก่อนแล้วมาปรับปรุงแก้ไข 2.การลุกขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขธุรกิจหรือหาวิธีพัฒนาการลดคาร์บอนเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้เร็ว

“เชื่อว่าพวกเราทำได้ เราจะลุกขึ้นมาจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ ดาวจะเป็นกำลังสำคัญ โดยใช้นวัตกรรมผลักดันให้ไทยก้าวสู่เป้าหมาย โดยเริ่มต้นจากองค์กรเราก่อน ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้าทายของโลก และเราพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อก้าวไปสู่ Net Zero

อุตสาหกรรมคุ้มครองโลก

นายจอน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า โลกกำลังอยู่ริมขอบการปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกที่ 5 สิ่งที่เป็นความท้าทายที่สุด คือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่คุ้มครองโลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายแห่งทั่วโลก สะท้อนว่าภูมิอากาศมีความสำคัญ และคาร์บอนศูนย์เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องลงมือทำ ดาว ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเคมีและเทคโนโลยีวัสดุ คิดเสมอว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีบรรจุภัณฑ์ที่กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนน้อยลง สร้างขยะให้โลกน้อยลง รีไซเคิลได้มากขึ้น” เพนไรซ์กล่าว

ดาวคิดค้นและวางเป้าหมายเป็นองค์กรที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutral ซึ่งเป้าหมายของโลกกำหนดภายในปี ค.ศ.2050

นายเพนไรซ์ กล่าวถึงรายงานของ McKinsey & Company เผยแพร่ผลการศึกษาและวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเพื่อลดคาร์บอนทั่วโลกพบว่า หากประเทศทั่วโลกต้องร่วมกันลงทุนลดการปล่อยคาร์บอนสูง ถ้ามองมุมการตลาดจะเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ นั่นหมายถึงการลงทุนยังช่วยสร้างนวัตกรรมที่ได้ประโยชน์มหาศาล และสร้างพันธมิตรหุ้นส่วนทางธุรกิจที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่

“ดาว”เร่งพัฒนาเทคโนโลยี

ในฐานะผู้นำธุรกิจวัสดุศาสตร์ (material science) มองเห็นความท้าทายในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยดาววางเป้าหมายสูงขึ้น 3 ด้าน คือ 1.การคุ้มครองสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น 2.การหยุดยั้งจำนวนขยะพลาสติก 3.ปิดวงจรขยะพลาสติก โดยดาวมีวัฒนธรรมองค์กรในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้โรดแมพที่ทำได้จริง แล้วสอดคล้องกับสถานการณ์จริงซึ่งสามารถเริ่มต้นทำได้ที่ตัวเราเอง

“เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ดาวได้ประกาศผลงานด้านวิศวกรรมทางเคมีที่ยิ่งใหญ่ Net-zero carbon cracker จะช่วยลดคาร์บอนเป็นศูนย์ สิ่งนี้เป็นตัวอย่างเทคโนโลยี หากได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพแล้ว เราจะยกระดับนำไปใช้ และส่งต่อไปทั่วโลก เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Carbon” นายเพนไรซ์กล่าว

เป็นโอกาสธุรกิจที่ยิ่งใหญ่

นายราฟาเอล กายูเอลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทดาว ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอินเดีย กล่าวในห้วข้อ “มุมมองระดับโลก : ความท้าทายและโอกาสสำหรับธุรกิจสู่ Net zero” ว่า ยุคแห่งการปฏิวัติดิจิทัลเป็นยุคการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ผู้ประกอบการต้องตระหนักว่าภาคการผลิตมีส่วนผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันท่ามกลางการเจริญเติบโตนั้น อุตสาหกรรมสร้างก๊าซโลกร้อนหลายเท่า ซึ่งดาวเห็นความจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสที่ไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนเพิ่มเกิน 1.5-2.0 องศา ส่วนเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ยิ่งยากและท้าทาย แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่

“ถ้าหากเทคโนโลยี AI เติบโตเต็มที่จะส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรม แต่ทั้งหมดขึ้นกับการปรับตัว ขณะนี้ดาวเข้าสู่ระยะใหม่ของการค้นพบผลิตภัณฑ์โมเลกุลเพื่อความยั่งยืนจะเป็นหนึ่งใน Gross model สร้างโอกาสทางธุรกิจยิ่งใหญ่ให้เราและพันธมิตร”

ช่วง 5 ปี (ปี 2014-2019) ดาวมีเป้าหมายลดปล่อยก๊าซคาร์บอนและสร้างสมดุลทางธรรมชาติมากขึ้น เช่น พลังงานหมุนเวียน การผลิตโปรตีนทางเลือก อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบขนส่งไฟฟ้า และคาดว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีมูลค่า 150-450 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2050 นั่นหมายถึงโอกาสใหม่ทั้งในแง่การสร้างรายได้ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ขับเคลื่อนอนาคต “อีวี”

นายโลแกนนาธาน เรวิงแซงเกอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและพัฒนาธุรกิจของบริษัทดาว ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในหัวข้อ “การพัฒนาเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ : เมืองและยานยนต์แห่งอนาคต" ว่า ดาวได้พัฒนาวัสดุศาสตร์ชนิดพิเศษที่มีขนาดเบาและทนทานนำมาเป็นส่วนประกอบโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้า​ (อีวี) จะช่วยลดการใช้พลังงาน รวมทั้งคิดค้นแบตเตอรี่รถอีวีที่จะทำให้การชาร์จไฟฟ้าทำได้เร็ว เก็บบรรจุไฟได้นานและปลอดภัย 

นอกจากนี้ Dow Mobility Science Solution เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมความเชี่ยวชาญของบริษัทดาวมาอยู่ที่เดียว เพื่อลูกค้าและพันธมิตรได้เข้าถึงข้อมูลและทำงานร่วมกัน มุ่งสร้างห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจเรื่องเปลี่ยนผ่านการใช้รถอีวี ส่วนสำคัญในภารกิจสู่เน็ตซีโร่

“บรรจุภัณฑ์” รักษ์โลก

นางอีเจ หลิว เจ้าหน้าอาวุโสฝ่ายขาย, บรรจุภัณฑ์ และพลาสติกพิเศษของบริษัทดาว ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ดาว ที่เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเคมีและเทคโนโลยีวัสดุ โดยคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีบรรจุภัณฑ์ที่กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนน้อยลง สร้างขยะให้โลกน้อยลงเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว 

“ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ถามหาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน เพราะใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญให้ดาวออกแบบสร้างสรรค์ และเพิ่มมูลค่าให้กับวงจรบรรจุภัณฑ์เพื่อสามารถใช้ประโยชน์สูงสุด”

“นวัตกรรม”อาคารสีเขียว

นายรัฐเชษฐ์ ธีระธนาวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่ออาคารและโครงสร้างพื้นฐาน Dow Southeast Asia/Australia & New Zealand กล่าวว่า การเอาองค์ความรู้มาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเพื่อให้โลกได้ปรับสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยสถานการณ์ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงอีกอุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ดังนั้น กลุ่มดาวจึงคิดนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่อาคารสีเขียว

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก World green building council ระบุว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 39% ในจำนวนนี้ 28% มาจากพลังงานที่ใช้ควบคุมอุณหภูมิภายในอาคาร และ 11% มาจากวัสดุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้างถือเป็นการกดดันอุตสาหกรรมก่อสร้างว่าจะทำอย่างไรให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดย World green building council ตั้งเป้าให้ทุกตึกที่สร้างใหม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีค่าเป็นศูนย์ในปี 2050

นอกจากนี้ ไทยได้ตั้งเป้า Net Zero ปี 2065 ซึ่งต้องร่วมมือทั้งผู้ผลิตวัสดุที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การเลือกวัสดุที่ใช้หรือให้อาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้นลดอุณหภูมิลดลงโดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้า

เครือข่าย6กลุ่มลดคาร์บอน

ทั้งนี้ 6 ส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมก่อสร้างสู่เป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศคือ 

1.วัตถุดิบ ทำยังไงให้วัตถุดิบที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2.ผู้ผลิต มีความสำคัญมากในการนำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ธรรมชาติให้มากสุด ใช้พลังงานทดแทน 

3.การขนส่ง ทำอย่างไรให้ขนส่งสั้นลงและใช้พลังงานไฟฟ้ามาทดแทน 4.การก่อสร้าง โดย 11% มาจากส่วนนี้ จะทำยังไงให้เลือกใช้วัสดุที่ถูกต้องให้ตัวอาคารมีความคงทนและใช้พลังงานต่ำ 5.กลุ่มคน เมื่ออาศัยในอาคารต้องให้ความรู้ว่าทำอย่างไรเพื่อลดหรือแบ่งแยกประเภทของขยะที่เกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย 

6.การรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นขยะของเสียที่เกิดจากบ้านเรือนหรืออาคารหรือขยะที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างทำอย่างไรให้เกิดการรีไซเคิลแบบครบวงจรและการรีไซเคิลนี้ จะกลับเข้ามาสู่กระบวนการที่ 1 เพื่อให้ได้มาเป็นวัตถุดิบในการก่อสร้างได้ในอนาคตต่อไป

ลดของเสียงานก่อสร้าง

ทั้งนี้ การนำนวัตกรรมที่มีอยู่ อาทิ ปูนฉาบที่มีการใช้โดยทั่วไปในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปัจจุบันมีการผลิตปูนฉาบสำเร็จรูปขึ้นมาเพื่อมาแทนที่ปูนฉาบที่มีการผสมหน้างาน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องด้วยได้ อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลา ส่วนของเสียที่เกิดจากกระบวนการผสมก็จะน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้ การนำกาวที่ไม่มีสารระเหย กลิ่นและไม่ติดไฟ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้งานและยังช่วยลดต้นทุนในการติดตั้งมีการกระจายตัวที่ดีใช้ปริมาณที่น้อยลงและให้คุณสมบัติการติดตั้งอยู่เหมือนเดิม อีกทั้งสิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของงานก่อสร้างที่ได้สกัดมาเป็น bio-based จากพืช อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย สามารถช่วยทำให้อากาศ สภาพอากาศภายในอาคารดีขึ้น เกิดผลประโยชน์และความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยภายในบ้านหรืออาคาร

ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในขณะเดียวกัน พื้นสนามกีฬา หรือ ลู่วิ่ง จะมีลักษณะเป็นยางนุ่มเพื่อลดการกระแทกหรืออุบัติเหตุ ดังนั้น การที่จะทำให้พื้นยางเกาะตัวกันได้จะต้องมีการใช้กาว ดังนั้น นวัตกรรมปัจจุบันจำต้องนำเอากาวที่เป็นคาทอลิกสูตรน้ำไม่มีสารระเหยมาใช้ และยังเป็นส่วนที่ต้องทนสภาพต่อแสงยูวี ทำให้พื้นอยู่ได้นาน ลดต้นทุนการซ่อมบำรุง 

นอกจากนี้ ยังนำการรีไซเคิลมาเกี่ยวข้อง โดยเอาพื้นวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น พื้นรองเท้าหรือยางรถยนต์ที่ไม่ใช้มาบดผสมกับกาวกลุ่มดังกล่าวมาปูพื้นสนามกีฬาใหม่ ถือเป็นอีกนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์สูงสุดในเรื่องวัสดุศาสตร์แล้วมารวมกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

ส่วนอาคารอาคารสูงที่ปัจจุบันมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ความแข็งแรงและคงทนต่อสภาพอากาศ โดยปัจจุบันเปลี่ยนจากปูนมาเป็นกระจกมากขึ้น ช่วยเพิ่มอิสระและแสงจากตัวธรรมชาติเข้าอาคารมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างกระจกกับอลูมิเนียม ดังนั้น ซิลิโคนจึงเป็นอีกนวัตกรรมที่จะช่วยลดการรั่วซึมของอากาศเข้าสู่ภายในและภาย

“ดาวนำซิลิโคนมาทดสอบและยืนยันได้ว่าเมื่อใช้ในอาคารสูงจะคงทนไม่เปลี่ยนสภาพยาวนาน 50 ปี โดยปีนี้ ดาว จะออกโปรแกรม Carbon neutral ของกลุ่มซิลิโคนโครงสร้าง เป็นลักษณะโปรแกรมที่นำเสนอ Carbon neutral ตัวอาคาร โดยควบคุมการผลิตเริ่มจากตัววัตถุดิบและพลังงานทดแทนในการผลิต เป็นนวัตกรรมที่ผู้ผลิตต้องการจะผลักดันให้อุตสาหกรรมก่อสร้างก้าวสู่ Net Carbon