ขร. แจงข้อโต้แย้งร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง
กรมการขนส่งทางราง แจงข้อโต้แย้งร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ยันให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิกถอนสัญญาสัมปทาน เฉพาะกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตก่อให้เกิดอันตราย กระทบบริการประชาชน
ตามที่ได้มีการโต้แย้งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. ..... ผ่านสื่อสาธารณะกรมการขนส่งทางรางจึงขอชี้แจง แต่ละประเด็นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสาธารณชนต่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 การให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิกถอนสัญญาสัมปทาน หรืออนุมัติการต่ออายุสัญญาสัมปทาน เป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือพีพีพี
- การให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการเพิกถอนสัญญาสัมปทาน หรืออนุมัติการต่ออายุสัมปทาน ก็แต่ในกรณีที่ใบอนุญาตนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ออกใบอนุญาตตามร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง และให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิกถอนใบอนุญาตเฉพาะในกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตก่อให้เกิดอันตรายหรือกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างร้ายแรง เช่นมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากและไม่ยอมแก้ไขเหตุดังกล่าว เท่านั้น
ส่วนกรณีของผู้ได้รับสัญญาสัมปทานก่อน พ.ร.บ.การขนส่งทางรางมีผลใช้บังคับ หากเกิดกรณีที่ผู้ได้รับสัญญาสัมปทานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน พ.ร.บ.การขนส่งทางราง และเกิดเหตุอันตรายต่อประชาชนอย่างร้ายแรงมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากและไม่ยอมแก้ไขเหตุดังกล่าวก็ต้องเข้ากระบวนการเพิกถอนสัญญาสัมปทานอยู่ดี และยังเป็นกระบวนการของ ครม. ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือพีพีพี จึงไม่ได้ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ พีพีพี แต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 ไม่ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง
- มาตรา 60 ของ ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางได้ห้ามโอนสิทธิในใบอนุญาตแก่บุคคลอื่น เพื่อป้องกันผู้ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนดเข้ามาประกอบกิจการเกี่ยวกับราง และเป็นการป้องกันการผูกขาดในกิจการเกี่ยวกับการขนส่งทางราง มาตราดังกล่าวจึงเป็นการส่งเสริมการแข่งขันระหว่างเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง
การที่ ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง มีข้อห้ามเกี่ยวกับการห้ามถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการขนส่งทางราง เกินกว่า 50% หรือห้ามให้บริษัทที่สามถือหุ้นเกินกว่า 50% ของทั้งในบริษัทผู้รับใบอนุญาตและบริษัทที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางอื่น และห้ามไม่ให้บุคคลต่างด้าวขอใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง จึงไม่เป็นการกีดกันเอกชนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับรางเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เนื่องจากการขอใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับรางต้องทำตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเอกชนที่จะเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน
ประเด็นที่ 3 หลักเกณฑ์และอำนาจหน้าที่มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- เมื่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางประกาศใช้บังคับแล้ว และตามบทเฉพาะกาล บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัถตุประสงค์ แก้ไขปัญหาในอดีตที่ ในการให้บริการระบบราง ที่ยังมีปัญหาด้านความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการที่มีต่อประชาชน ทำให้จำเป็นต้อง มีกรมการขนส่งทางรางทำหน้าที่ Regulator และกำหนดพระราชบัญญัติการขนส่งทางรางขึ้น ซึ่งจะช่วยกำกับการดำเนินงานของระบบขนส่งทางรถไฟให้มีมาตรฐานความปลอดภัย การกำหนดเขตปลอดภัย การสอบสวนอุบัติเหตุ และยกระดับคุณภาพการให้บริการระบบรางให้กับประชาชนผู้ใช้บริการระบบราง รวมถึงคุ้มครองผู้โดยสาร ความล่าช้าในการเดินรถ การคืนค่าโดยสารและการเยียวยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม และได้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างครบถ้วน ทุกขั้นตอนชอบด้วยกฎหมายแล้ว