"กรมชล "หวั่นงบก่อสร้างบานตามราคาเหล็ก น้ำมันพุ่ง ในภาวะสงคราม
กรมชลประทาน ชี้ต้นทุนก่อสาร้างเพิ่ม หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาน้ำมัน –เหล็กพุ่ง ขณะเจ้าพระยา2คืบหน้ากว่า 20%คาดเสร็จตามแผน
นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ล่าสุดมีเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ต้นทุนพลังงานน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าแรงงาน ค่าเหล็ก หรือวัสดุก่อสร้างขยับราคาขึ้น อาจกระทบกับการก่อสร้างโครงการชลประทานเฟสใหม่ที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ ค่าก่อสร้างอาจเพิ่มขึ้นได้
“แม้ราคาเหล็กจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง แต่รัฐบาลพยายามตรึงราคาส่งผลทำให้ในปี2565 ราคาก่อสร้างโครงการต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก”
สำหรับความคืบหน้าของโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร หรือ เจ้าพระยา 2 ตั้งอยู่สนามชัย อำเภอบางไทรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นคลองระบายน้ำมีความยาวประมาณ 22.50 กม. เขตคลองกว้าง 200 เมตร และในเขตชุมชนกว้าง110 เมตร พร้อมก่อสร้างถนนบนคันคลองผิวจราจรกว้าง 8 เมตร ทั้ง 2 ฝั่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลอระบาย จำนวน 1แห่ง ก่อสร้างภายใต้งบประมาณ 21,000 ล้านบาท
คาด จะสามารถก่อสร้างได้เสร็จตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ และหากก่อสร้างได้เสร็จ จะสามารถระบายน้ำ ได้สูงสุด1,200 ลบ.ม./วินาที สามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 1.9–2.5 ล้านไร่/ปี และสามารถลดระดับความลึกของน้ำท่วมลงได้ เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรมรวม 229,138 ไร่ มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค 15 ล้าน ลบ.ม.ในเขตพื้นที่โครงการ
การก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร กรมชลประทานได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุม ทั้งด้านอุทกภัย การขาดแคลนน้ำ คุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการน้ำและมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เป็นคลองระบายน้ำที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อเบี่ยงน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยาเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก ลดระดับน้ำท่วมในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เป็นอย่างดี
“ความคืบหน้าในการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างได้มากกว่า 20% ของโครงการ ดังนั้นการก่อสร้างไม่น่าจะมีปัญหา หากก่อสร้างเสร็จ จะช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ ทั้งเรื่องของน้ำท่วม ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลากได้มากขึ้น จากเดิมระบายน้ำได้ 1,730 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มอีก 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือจะสามารถเพิ่มการระบายน้ำได้ถึง 2,930 ลบ.ม.ต่อวินาที จังหวัดอยุธยาในเขตน้ำท่วมขังสูงสถานการณ์จะดีขึ้น ริมฝั่งเจ้าพระยาตอนล่าง จะสามารถระบายน้ำลงทะเลได้เร็วขึ้นลดผลกระทบน้ำหลากต่อประชาชนน้อยลง”
นายเสริมชัย กล่าวว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร เป็นแผนงานในลำดับที่ 7 ของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วยแผนงานทั้งหมด 9 กลุ่มแผนงาน ซึ่งการก่อสร้างแนวคลองระบายน้ำหลากตัดผ่านพื้นที่ชุมชน ส่งผลให้ที่ดินของประชาชนถูกเขตพื้นที่ก่อสร้าง ส่งผลให้มีการปรับลดแนวคลองในบริเวณที่ตัดผ่านชุมชนเพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด รวมถึงดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา