ศูนย์บ่มเพาะ EEC: การบูรณาการ คือโจทย์ใหญ่
ในช่วงนี้ที่ประเทศกำลังเดินกลับสู่ภาวะหลังโควิด เราก็จะเห็นความพยายามของสำนักงานเลขาธิการ EEC (สกพอ.) ที่พยายามจะทำให้ EEC ยังอยู่ในกระแสและเดินต่อไปโดยไม่ให้หลุดจากความสนใจของนักลงทุน
แม้ว่าจะซา ๆ ลงไปบางหลังจากเรื่องโครงการสาธารณูปโภคหลัก ๆ มีผู้รับผิดชอบและลงทุนแล้ว ทำให้ข่าวคราวแบบปัง ๆ ไม่ค่อยมีมาให้ตื่นเต้น ทั้งนี้ไม่นับเรื่องโครงการเครือข่ายท่อส่งน้ำมูลค่า 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปีซึ่งขณะนี้ยังเป็นประเด็นกันอยู่ว่าใครจะได้โครงการไปทำ ทะแม่ง ไม่ทะแม่ง อย่างไรก็ติดตามกันต่อไป แต่อยากให้ทราบทั่วกันว่า “น้ำ” คือปัจจัยความอยู่รอดที่สำคัญที่สุดของ EEC
แม้ว่า ข่าวคราวจะเบา ๆ ลง แต่ก็ไม่ถึงกับเงียบ สกพอ. ก็ยังพยายามเก็บตกทุกเม็ดในงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องใหญ่ เก็บทุกเม็ดจริง ๆ แต่ดู ๆ แล้วยังเดินไปอย่างช้า ๆ
ส่วนที่สะดุดความสนใจของผม คือ การสร้างศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน หรือ EEC Incubation center ที่จะเป็นการลงทุนร่วมระหว่างกองทุนหมู่บ้านและ EEC ในการช่วยสารพัดเรื่องกับวิสาหกิจขุมชน เช่น การศึกษาวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาคุณภาพบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ฯลฯ และวางเป้าหมายไว้น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ยอดขายสินค้าชุมชนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30% ผลักดัน GDP ระดับชุมชนเพิ่ม 20% เศรษฐกิจชุมชนประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น 20% ฯลฯ เพียงแต่ผมไม่รู้ว่าทำอย่างไร มากน้อยเพียงใด แต่ผมเชื่อว่าศูนย์พัฒนาวิสาหกิจชุมชนนี้น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญ และหากทำได้ สร้างขึ้นมาได้และทำงานได้ครอบคลุม ผมว่านั้นคือ สิ่งที่ SME และวิสาหกิจชุมชนถวิลหามานาน
ศูนย์การบ่มเพาะของประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่นั้นมักจะมีศูนย์บ่มเพาะที่มีอุปกรณ์สำหรับการทำธุรกิจที่พร้อม เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ต้องลงทุนพอสมควร จะให้ SME แต่ละรายลงทุนนั้นยาก เพราะไม่คุ้มทุนดังนั้นศูนย์เหล่านี้ลงทุนโดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และมีหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับต่าง ๆ ทำหน้าที่ร่วมกันเป็นระบบแบบส่งต่อในพื้นที่ เลยทำให้ SME หรือวิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายในพื้นที่ของตนเอง
ในประเทศไทยนั้นมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SME และวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง เช่น ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ทุกภาคของประเทศหมด 10 กว่าแห่ง มีพื้นที่ มีอาคารที่ให้ SME สามารถเช่าพื้นที่เพื่อตั้งที่ทำงาน และมีการให้บริการเครื่องจักรในการผลิตในบางส่วน ซึ่งมันช่วยให้เอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเกิดและเติบโตขึ้นมาได้ และเมื่อเข้าตลาดได้แล้วก็จะแยกตัวออกไปและลงทุนซึ่งก็จะมีธนาคาร SME Bank สนับสนุนต่อไป และยิ่งในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานพยายามตั้งศูนย์เหล่านี้ อาทิ Industrial Transformation Center (ITC) ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือ AIC ของกระทรวงเกษตร หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานของกระทรวงแรงงาน รวมถึงศูนย์ต่าง ๆ ที่มีทั้งโรงงานทดลอง ห้อง lab ที่กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทุกภูมิภาคที่ ครม. ได้มอบงบประมาณผ่านกระทรวงอุดมศึกษ วิทยาศาสตร์และวิจัย ลงไปที่มหาวิทยาลัยของรัฐในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นการสร้างศูนย์พัฒนาฯ ซึ่งจะมีพวกเครื่องมือ เครื่องจักร โรงงานจำลอง เครื่องมือทดสอบ เครื่องจักรในการผลิตเพื่อออกแบบทดลองการผลิตต่าง ๆ รวมถึงการให้บริการในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งผมว่าวันนี้ หากรวมสิ่งทั้งหมดเหล่านี้เข้าด้วยกันน่าจะช่วย EEC ได้มาก แต่ต้องสร้างระบบการทำงานอย่างบูรณาการ
ดังนั้นงานสำหรับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ EEC โจทย์ใหญ่ของ สกพอ. ไม่น่าใช่การสร้างศูนย์บ่มเพาะหรือศูนย์พัฒนาฯ ที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์คนที่เข้าใจบริบทของการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่การพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อสร้างระบบการประสานงานให้เกิดการบูรณาการตั้งแต่ต้นทางในการเริ่มธุรกิจ วิจัยพัฒนา การผลิต
การบริหารจัดการ จนถึงการตลาด ที่มีระบบการส่งต่อความช่วยเหลือสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ใหญ่ในพื้นที่แล้ว ผมคิดว่าน่าจะดีกว่าที่จะต้องมาตั้งงบประมาณใหม่สร้างพื้นที่ขนาดใหญ่และต้องรอไปอีกสองสามปีกว่าจะเสร็จ และเสร็จแล้วช่วยได้ไม่กี่ราย ผมเชื่อว่าวันนี้ EEC มีสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว แต่รอคนที่เป็นแกนกลางในการมองภาพรวมของการบ่มเพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและวิสาหกิจชุมชนเพื่อความสมบูรณ์ของการสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพและผมเชื่อว่างานนี้ สกพอ. ทำได้และน่าจะทำได้ดีด้วย