แกรมมี่ฯ ปลุกลูกค้าผันงบ 5-10% ออกอาวุธ มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง ปั๊มยอด
"เพลง" คือคอนเทนท์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค ในมิติการตลาด เพลงเป็นอาวุธที่มีพลัง ช่วยปี๊ยอดขาย จากฐานแฟน-Fan base marketing ได้ด้วย แกรมมี่ฯ มีกรุเพลง ศิลปินเป็นสินทรัพย์ นำไปต่อยอดเพิ่ม Impact ให้ Music Marketing ได้เวลาปลุกลูกค้าใช้เงินลุยการตลาดเชิงดนตรี
หากกล่าวถึงอาวุธการตลาดเชิงดนตรีหรือ Music Marketing ที่ทรงพลังและมีมูลค่ามหาศาลต้องยกให้ช่วงพักครึ่งการแข่งขันแมทช์ซูเปอร์โบวล์ เพราะระยะเวลาเพียง 30 นาที แบรนด์ใหญ่ระดับโลกไม่พลาด! โอกาสทองของการสร้างแบรนด์สู่คนดูหลัก “ร้อยล้าน” และปูทางสู่การเพิ่มยอดขายสินค้า
ส่วนประเทศไทย มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง ไม่ได้จางหาย แต่แผ่วไปบ้างตามยุค เพราะการตลาดมี “อาวุธ” และเครื่องมือใหม่ๆมาชิงเม็ดเงินทุกปี ทว่า ปี 2565 แม่ทัพจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ประกาศเกมรุกอีกครั้ง กระตุกแบรนด์ให้เหลียวมอง “ความทรงพลัง” ของศาสตร์การตลาดดังกล่าว
เมื่อเพลงไม่มีวันตาย และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้บริโภคอยู่แล้ว อีกทั้งเทียบความนิยมเสพคอนเทนท์ “เพลง” เป็นสิ่งที่ “ดูซ้ำ” มียอดวิวเพิ่มต่อเนื่อง แบรนด์จึงควรจัดสรรงบประมาณมาทำมิวสิค มาร์เก็ตติ้งมากขึ้นอย่างน้อย 5-10% เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จากเดิมการเทเงินทุ่มให้โฆษณาผ่านสื่อหลัก(Mass Media) เพราะสร้างผลกระทบเชิงบวกและเข้าถึงผู้บริโภควางกว้าง มุมมองจาก ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง ไม่ได้ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์แก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่บริบทสื่อเปลี่ยน มีแพลตฟอร์มดิจิทัลมากมาย บรรดานักสร้างสรรค์เนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ผู้กำกับฯ ที่ปิ๊งไอเดียเด็ด แถมมี “ฐานแฟน” จำนวนมาก ช่วยผลักดันให้สินค้าและบริการสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นด้วย
จุดเด่น Music Marketing มากกว่าสร้าง Awareness แต่ปิดยอดขายได้
ตัวอย่าง ศิลปิน ยุคนี้ไม่ได้ทำแค่เพลง แต่ไลฟ์สไตล์ ความสนใจต่างๆ ช่วยทำให้ขอบเขตมิวสิค มาร์เก็ตติ้งขยายกว้างขึ้น ซึ่งจีเอ็มเอ็ม มิวสิคมี “จุดแข็ง” พร้อมตอบโจทย์ลูกค้า ได้แก่ 1.การคร่ำหวอด ความเชี่ยวชาญบนเส้นทางมิวสิคมาร์เก็ตติ้งกว่า 38 ปี 2.ทีมการตลาดเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ 3.โมเดลธุรกิจเป็นแบบวันสต๊อป มิวสิค โซลูชั่น มาที่เดียวได้ครบตั้งแต่ปรึกษา สร้างสรรค์ ผลิตผลงาน สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดวงกว้าง
4.ศิลปิน “หลายร้อยชีวิต” หลากแนวเพลง ทั้งป็อป ร็อก ฮิปฮิป ลูกทุ่ง ครบทุกเซ็กเมนต์ ทุกเจนเนอเรชัน ทุกความสนใจ จึงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “ลูกค้าของแบรนด์” ได้ครอบคลุมมากขึ้น 5.เชี่ยวชาญในมิวสิค โซเชียล มีผลตอบรับสูงทุกมิติการตลาด เช่น ยอดวิว ผู้ติดตาม เอ็นเกจเมนต์ ที่เกิดจาก “ฐานแฟน” ศิลปินแกรมมี่หรือแฟน เบส มาร์เก็ตติ้ง บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ทะลุ 50 ล้านคน หรือหากนับซ้ำมีรวมหลัก “ร้อยล้าน” เป็นกองทัพผู้บริโภคที่ช่วยปั๊มยอดขายให้ลูกค้าได้
6.ความชำนาญในการจัดคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรีใหญ่สุด ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย ทำให้การทำตลาดเกิดทั้งออนกราวด์ ออนไลน์ เรียกว่าผู้บริโภคอยู่ไหน แบรนด์ทำตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ และ7.การข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคและศิลปินเพื่อจับคู่การตลาดให้เหมาะแม่นยำ
“2 ปีที่ผ่านมา แม้เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด กระเทือนธุรกิจให้อยู่ในภาวะ ทรงตัวแต่ แต่เราแปลงอุปสรรคเป็นโอกาสปรับกระบวนท่า จัดทัพธุรกิจใหม่สร้างอีโคซิสเทม เสริมแกร่งให้มิวสิค โซลูชั่นพร้อมตอบโจย์ความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างประสิทธิภาพ ตลอดเส้นทางการตัดสินใจซื้อของลูกค้า(Customer Journey) ตั้งแต่สร้างการรับรู้แบรนด์ การตัดสินใจ ไปจนถึงซื้อสินค้า”
ภาวิต จิตรกร แม่ทัพจีเอ็มเอ็ม มิวสิค
แม้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีกรุเพลงมากมายมหาศาล หากจะทำการตลาดเชิงดนตรี จะอิมแพ็คกับผู้บริโภคกลุ่มใดบ้าง ภาวิต หยิบสถิติ ข้อมูลหลังบ้าน(Big data)พบว่าเกือบทุกกลุ่ม แต่ใหญ่สุดคืออายุ 15-45 ปี ตามพฤติกรรมการฟังเพลงจนอยู่ในความทรงจำ ขณะที่หมวดหมู่สินค้านิยมใช้ “เพลง” ทำการตลาด ยกให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มยานยนต์ จักรยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขนมขบเคี้ยว(สแน็ค) ฯ โดยแต่ละปีบริษัทสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดเชิงดนตรีตอบโจทย์ลูกค้านับ “ร้อย”
ด้านภาพรวม 2 เดือนแรก สถานการณ์ของแบรนด์สินค้าและบริการเทงบทำแคมเปญการตลาดค่อนข้างอยู่ในภาวะ “ระมัดระวัง” ภายใต้การระบาดของโรคโควิดโอมิครอน แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจาก 1-2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเกิดการ “อั้น” ใช้จ่าย
“เริ่มเห็นสัญญาณการวางแผนใช้งบทำแคมเปญการตลาดในไตรมาส 2-3 การรุกเสิร์ฟมิวสิค มาร์เก็ตติ้งให้ลูกค้า เราต้องการปรับฐานธุรกิจ ไม่คาดหวังการเติบโตสูง เพราะยังมีปัจจัยโอมิครอนระบาดอยู่ จะบอกว่าปีนี้เป็น Super Growth อาจจะดู too good to be true ขณะที่การสร้างฐานปีนี้จะส่งผลให้ปีหน้ากลับสู่การเติบโตได้”
อย่างไรก็ตาม มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง เชื่อมโยงธุรกิจการบริหารจัดการศิลปิน และสปอนเซอร์ รวมถึงดิจิทัล มิวสิค ซึ่งทำรายได้ให้บริษัทประมาณ 2,500 ล้านบาท