“ประยุทธ์”เร่งรับมือวิกฤติเงินเฟ้อ สั่งกระทรวงเศรษฐกิจทำแผนดูแลประชาชน
นายกฯ ถกทีมเศรษฐกิจเครียด 2 ชั่วโมง ห่วง“วิกฤติเงินเฟ้อ”กระทบค่าครองชีพประชาชน สั่งทุกหน่วยงานหามาตรการรับมือด่วน “สุพัฒนพงษ์-อาคม” เร่งทำแผนอุ้มประชาชน ครม.เคาะร่างแผนรับรองวิกฤติน้ำมัน ขยายเพดานกู้ของกองทุนน้ำมัน หลังติดลบเกือบ 3 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (15 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจมาหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยหัวข้อหารือหลัก ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อกินเวลานานเข้าสัปดาห์ที่ 3 และยังไม่มีทีท่าจะจบลงในเร็วๆนี้
ประการต่อมาเรื่องของสถานการณ์เงินเฟ้อโลก และเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นมากจากปัญหาราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
“ที่ประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่มีใครบอกได้ว่า จะจัดการกับราคาน้ำมันที่สวิงอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เข้าประชุมทำแผนรับมือและปัญหาเงินเฟ้ออย่างเร่งด่วน” แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าว
สำหรับหน่วยงานเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เร่งทำแผนอุ้มประชาชน
แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนมาตรการรับมือของหน่วยงานต่างๆ ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 80% ซึ่งคาดว่า กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ส่วนอีก 20% เป็นมาตรการของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ โดยกระทรวงเกษตรฯ รอความชัดเจนของมาตรการดูแลราคาปุ๋ย
ทั้งนี้ เดิมทีวันนี้ (16 มี.ค.) นายสุพัฒน์พงษ์และนายอาคม จะแถลงแผนการดูแลราคาพลังงานและการดูแลผลกระทบประชาชน ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ได้เลื่อนเป็นภายในสัปดาห์นี้
สำหรับเงินเฟ้อของไทยในเดือน ก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 5.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐ เดือนล่าสุดอยู่ที่ 7.9% สูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 15-16 มี.ค.นี้ตลาดคาดว่าจะขึ้นในอัตรา 0.5%
ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบวันที่ 14 มี.ค.2565 ลดลงกว่า 5% ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนเข้าสู่รอบที่ 4 แต่ยังไม่มีข้อสรุป โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่บาร์เรลละ 103.01 ดอลลาร์ และน้ำมันดิบเบรนท์ 106.90 ดอลลาร์
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางสำคัญในการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด ในรูปแบบ และวิธีการที่เหมาะสม จากงบประมาณที่มีจำกัด ซึ่งต้องการให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นช่วยเหลือทันทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และระยะยาว
กองทุนติดลบเกือบ3หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้ใช้เวลาหารือนานที่สุด คือ เรื่องพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน โดยได้เชิญนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มาชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมันและสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ นายวิศักดิ์ ชี้แจงว่า ราคาน้ำมันขณะนี้ผันผวนหนักมากในรอบ 13-14 ปี มีเหตุมาจากสงครามดังกล่าว ส่วนการชดเชยน้ำมันดีเซลในปัจจุบันชดเชยอยู่ที่ลิตรละ 7 บาท แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงไปถึงบาร์เรลละ 135 ดอลลาร์ จะต้องชดเชยลิตรละ 8 บาท ถ้าสถานการณ์น้ำมันยังเป็นอยู่อย่างนี้ ราคานี้จะตรึงได้ถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ แต่ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงจะตรึงต่อได้ถึงต้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเงินที่อุดหนุนดีเซลตรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินด้วย
สำหรับ สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 13 มี.ค.2565 ติดลบรวม 29,336 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 1,243 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 28,093 ล้านบาท
สั่งแจงใช้งบเงินกู้1.5ล้านล้าน
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.ยังได้หารือถึงกรอบเงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ฉบับ รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้เหลือวงเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับที่ประชุมว่า เงินกู้ส่วนใหญ่ใช้ไปกับเรื่องสุขภาพ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ฝั่งตรงข้ามชอบพูดว่ารัฐบาลใช้เงินผิดประเภท ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ อยากให้ช่วยไปชี้แจงทำความเข้าใจด้วยว่าเราเอาไปใช้อะไรบ้าง
รวมทั้งขอเน้นย้ำเรื่องการจัดซื้อให้มีความโปร่ง อย่างเช่น เรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ เพราะชีวิตประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ เราจะละเลยชีวิตประชาชนไม่ได้