Dow เร่งเครื่องนวัตกรรม สร้างโซลูชันลดคาร์บอน หนุนธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

Dow เร่งเครื่องนวัตกรรม สร้างโซลูชันลดคาร์บอน หนุนธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

"Dow" เดินหน้าแก้ปัญหาโลกร้อนร่วมกับทุกภาคส่วน แนะ "เทคโนโลยี-ประชาชน-โครงสร้าง-กฎหมาย" ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน มุ่งทำธุรกิจลดคาร์บอน ลดขยะพลาสติก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สู่เป้าก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ ปี 2593

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ถือเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ซึ่งพัฒนาและผลิตวัสดุด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม สารเคลือบผิว และซิลิโคน โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน

Dow ดำเนินธุรกิจหลากหลายเพื่อตอบรับกับความต้องการของลูกค้า และตั้งใจที่จะเป็นผู้นำเสนอนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับตลาดที่มีการเติบโตสูงอาทิ บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง ยานยนต์ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า (EV) และสินค้าอุปโภคบริโภค

Dow เร่งเครื่องนวัตกรรม สร้างโซลูชันลดคาร์บอน หนุนธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า กลยุทธ์ปี 2565 ต้องการนำเสนอโซลูชันและสร้างความเข้าใจในเรื่องการลดคาร์บอนมากขึ้น พร้อมกับมุ่งเน้นคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะพลาสติกที่เมื่อใช้เสร็จแล้วให้นำกลับมารีไซเคิลใหม่ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ Dow ให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอน หยุดขยะพลาสติก และส่งเสริมวงจรรีไซเคิล โดยเน้นพัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งลดคาร์บอนตลอดทั้ง Value chain และลดขยะพลาสติกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเฉพาะการนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลใหม่

Dow ได้ประกาศความมุ่งมั่นใหม่ต่อยอดจากเป้าหมายความยั่งยืนปี 2568 โดยภายในปี 2573 Dow จะลดการปล่อยคาร์บอนจำนวน 5 ล้านตันต่อปี หรือ ลดลง 15% จากฐานปี 2563 และยังตั้งใจจะเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส โดยใช้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน

บริษัท Dow ได้ทำสัญญาการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานที่อาร์เจนตินา บราซิล รวมทั้งที่เท็กซัสและเคนตักกี้ในสหรัฐฯ โดยใช้พลังงานจากทรัพยากรหมุนเวียน 338 เมกะวัตต์ ประมาณการเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 225,000 ตัน ซึ่งตรงกับแผนงานที่มีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 750 เมกะวัตภายในปี 2568

ตั้งแต่ปี 2549 Dow ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว 15% รวมราคาคาร์บอนเครดิตเข้าไปอยู่ในแผนลงทุนพลังงานหมุนเวียน และเป็นบริษัทที่ใช้พลังงานสะอาดมากเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมเคมี และติด 1 ในท็อป 25 ของบริษัททั่วโลกในด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน

Dow ตั้งใจจะสร้างความเข้าใจให้ผู้มีส่วนร่วมทั้งภาครัฐเอกชน และประชาชน เพราะปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ทั่วโลกตื่นตัว เทรนด์ในต่างประเทศก็บังคับให้ผู้ผลิตสินค้าต้องสร้างคาร์บอนน้อยลงและนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ เพื่อให้สร้างผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หากสินค้าไม่ปรับตัวก็จะแข่งขันไม่ได้

Dow เร่งเครื่องนวัตกรรม สร้างโซลูชันลดคาร์บอน หนุนธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

เทรนด์การลดโลกร้อนต่อจากนี้จะเห็นผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต ซึ่งต่างจากเดิมที่การเลือกผลิตภัณฑ์เน้นความแข็งแรง แต่สมัยนี้จะดูการบริหารจัดการคาร์บอน ซึ่งทั่วโลกมีกฎหมายและนโยบายลดอุณหภูมิ ดังนั้นจากเวที COP26 จะเป็นตัวกำหนดเทรนด์และทิศทางเทรนด์อุตสาหกรรม

 

นอกจากนี้ การวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อริเริ่ม "โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance" ในการอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับป่าไม้ประเภทอื่น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากลไกคาร์บอนเครดิตจากป่าชายเลนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

Dow ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนที่ปากน้ำประแสมานาน 13 ปี สร้างการมีส่วนร่วมทั้งกับชุมชนและประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้วิกฤติโลกร้อน ลดปัญหาขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรมในไทย สอดคล้องกับเป้าหมายของ Dow ทั่วโลก

"ทั้งนี้ วิธีการรับมือกับเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่ดีที่สุด คือการดิสรัปตัวเอง ซึ่ง Dow ได้ดิสรัปตัวเองตลอดและมีนักวิทยาศาสตร์คิดค้นวัตกรรมและโซลูชันที่ล้ำสมัยออกมาตลอดเวลา อาทิ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบวัสดุชนิดเดียว (Mono-material) ให้รีไซเคิลได้ง่ายและมีคุณสมบัติเทียบเท่าบรรจุภัณฑ์หลายชั้นจากวัสดุหลายชนิดที่ใช้กันทั่วไปในตลาด และเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษผสมพลาสติกใช้แล้วหรือ PCR ที่สามารถผลิตเป็นฟิล์มหดรัดสินค้า รวมถึงการพัฒนาพาเลทไม้เทียมจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลยากมาใช้งานในคลังสินค้าและงานขนส่งอุตสาหกรรม" นายฉัตรชัย กล่าว

Dow นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กรมากมาย อาทิ หุ่นยนต์หรือโดรนมาทำงานในพื้นที่เสี่ยงในโรงงาน อีกทั้ง สถานการณ์โควิดทำให้การติดต่อลูกค้าต้องเปลี่ยนไปจึงทำคลิป Dow Pack Guru นำเสนอนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ลง YouTube และเปิด Official LINE เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญและโปรโมทสินค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเสมือน (VR) ให้ลูกค้าสามารถเยี่ยมชมโรงงานและคลังสินค้าผ่านแว่น VR เหมือนได้ไปด้วยตัวเอง

สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ Dow ให้ความสำคัญอย่างมาก นายฉัตรชัยแนะนำว่า ขยะพลาสติกมีจำนวนมากแต่ยังนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้เพียงแค่บางส่วน นอกจากต้องแก้ไขตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ง่ายด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์แล้ว เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ต้องสร้างความร่วมมือ 4 ส่วน คือ 1. เทคโนโลยี 2. พฤติกรรมผู้บริโภค 3. โครงสร้างพื้นฐาน และ 4. กฎหมาย

Dow การส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบตั้งต้น โดยนำขยะพลาสติกหลากประเภทมาผ่านกระบวนการ ไพโรไลซิส (Pyrolysis) ให้กลับเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งจะมีคุณสมบัติเหมือนเม็ดพลาสติกใหม่ที่ผลิตจากสารไฮโดรคาร์บอนทุกประการ สามารถใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยและตอบโจทย์การผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียน (Circular Polymers) ล่าสุดได้ร่วมมือกับกับฟือนิกซ์ อีโคจี กรุ๊ป (Fuenix Ecogy Group) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการผลิตเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์จากน้ำมันไพโรไลซิสนี้

ภายในปี 2573 Dow ตั้งเป้าจะช่วยหยุดขยะพลาสติก โดยช่วยให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่ และภายในปี 2578 Dow จะช่วยสร้างวงจรรีไซเคิลให้สมบูรณ์ โดยผลิตภัณฑ์ Dow ทั้งหมดที่ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์จะต้องสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้