ลุ้นกบง.ช่วยกลุ่มเปราะบาง เพิ่มอุดหนุน "ก๊าซหุงต้ม-ส่วนลดเติมเบนซิน"
ลุ้นกบง.ช่วยกลุ่มเปราะบาง เพิ่มอุดหนุน "ก๊าซหุงต้ม-ให้ส่วนลดเติมเบนซิน" ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมรับทราบแนวทางรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลจากโรงงานน้ำตาลกว่า 200 เมกะวัตต์ ในราคาหน่วยละ 2 บาทกว่า
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ.ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนเพิ่ม โดยจะโฟกัสไปที่โรงงานที่มีกำลังการผลิตอยู่แล้ว เช่น โรงงานน้ำตาล เพื่อขอให้ผลิตเพิ่มเพื่อมาทดแทนโดยไม่ต้องใช้แก๊สหรือน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม เท่าที่หารือเบื้องต้นของโรงงานที่มีศักยภาพอยู่ในระดับกว่า 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ส่วนราคาที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ากลุ่มโรงงานต่างๆ ไม่สนใจเพราะว่าราคารับซื้อยังถือว่าถูกอยู่ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีการเคาะราคาที่แน่ชัดจากที่เคยหารือก่อนหน้านี้อยู่ที่ 1.80 บาทต่อหน่วย ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ให้ร่วมกันทบทวนราคาอีกครั้ง ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณา
ทั้งนี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมามีเสนอมาเข้ามาเยอะ ต้องเรียนว่ามีเอกชนหลายกลุ่ม บางแห่งมีกำลังการผลิตอยู่แล้วก็ไม่ได้ต้องการเยอะ แค่ซื้อค่าเชื้อเพลิง โอเปอเรชั่นของเขา แต่จะมีอีกกลุ่มที่ต้องลงทุนเพิ่มก็อาจจะไม่คุ้ม เพราะช่วงเวลารับซื้อไม่แน่นอนโดยตอนนี้ระบุว่า 2 ปี อีกทั้งขณะนี้ต้องการรับซื้อไฟแบบฉุกเฉิน หากจะต้องติดตั้งระบบใหม่อาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือนติดตั้ง เบื้องต้นดูไว้ราว 40 โรงงาน และมีศักยภาพพร้อมผลิตเพิ่มไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมและมีกำลังการผลิตเหลือราว 5-10 โรงงาน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการนำเสนอที่ประชุม กบง.วันที่ 17 มี.ค. 2565 จะพิจารณาแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนเพิ่มของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ในราคากว่า 2 บาท โดยกำหนด 2 แนว คือ ให้ราคาเท่าทุนหรือบวกจากทุนนิดหน่อย เพราะแต่ละประเภทโรงไฟฟ้าไม่เหมือนกัน หรือให้ราคาเท่ากันไปเลย ในราคาที่เท่ากันหมด โดยไม่ดูต้นทุนการติดตั้ง เป็นต้น แต่จะต้องไม่เกินราคาที่รับซื้อรายเก่า โดยคาดว่าจากการปรับราคาครั้งนี้ จะมีโรงงานที่มีศักยภาพพร้อมขายทันทีรวมกันราว 200 เมกะวัตต์
“แนวคิดดังกล่าวเป็นทางเลือกที่มีการเสนอ เพราะถ้าซื้อแพงมากราคาค่าไฟก็แพง ประชาชนก็ต้องจ่ายแพง และถ้าซื้อถูกประชาชนได้ไฟถูกแต่ไม่มีคนขาย จึงต้องพยายามดูให้พอดีๆ คร่าวๆ มองไว้มีมากกว่า 10 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโงงานน้ำตาล จะเดินเครื่องช่วงหีบอ้อย มีกำลังผลิตเหลือเอามาทำเป็นไฟฟ้าขายเป็น SPP ช่วงไหนไม่หีบอ้อยก็ผลิตไฟฟ้าขายเข้ารัฐ และหาเชื้อเพลิงเพิ่มเติม เช่น ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาผลิตไฟฟ้าได้” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการดำเนินการจัดทำแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลส่วนเพิ่ม เพื่อลดผลกระทบจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณที่หายไป เนื่องจากปัจจัยราคาแอลเอ็นจีโลกที่สูงขึ้นและประเทศไทยถือเป็นประเทศที่นำเข้าก๊าซ รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายการบริหารจัดการแหล่งเอราวัณล่าช้า กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้เชื้อเพลิงก๊าซฯบางส่วนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศหายไป และยังเป็นไปตามมติ กพช.
นอกจากนี้ คาดว่า กรมธุรกิจพลังงาน จะรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ปัจจุบันผู้ถือบัตรจำนวน 13.5 ล้านคน ได้รับเงินอุดหนุนค่าซื้อก๊าซหุงต้มที่ 45 บาท ต่อครัวเรือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานได้หารือกับกระทรวงการคลังในการขอสนับสนุนจากงบกลางเพื่อพิจารณาเพิ่มอีก 55 บาท เป็น 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
ส่วนมาตการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เร่งหารือกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้รถจักยานยนต์ที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งมีอยู่ 21 ล้านคัน และต้องแยกจำนวนผู้ถือบัตรฯ เพื่อจะได้ทราบงบประมาณที่สอดคล้องกับปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินที่ 50 ลิตรต่อเดือน ซึ่งหากไม่มีการปรับแก้ไข คาดว่ามาตรการทั้ง 2 จะผ่านการเห็นชอบจาก กกบ.ครั้งนี้ เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาครั้งต่อไป เพื่อให้ทันเติมเงินเดือนเม.ย. 2565
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.จะเห็นชอบแนวทางในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มแอลพีจีที่จะครบกำหนดตามมาตรการที่ทระทรวงพลังงาน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินสนับสนุนเดือนละราว 2,000 ล้านบาท พยุงราคาไม่ให้เกิน 318 บาท ต่อถัง 15 กก. ในวันที่ 31 มี.ค. 2565 นี้ และจะปรับราคาเป็น 333 บาทต่อถัง จากราคาจริงที่กว่า 400 บาทต่อถัง