สอท.ชงแผนฟื้นเศรษฐกิจ ตรึงพลังงาน-เลิกเทสต์แอนด์โก
เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น รวมทั้งมีผลกระทบต่อเนื่องถึงต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นแรงสนับสนุนให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น โดยแม้จะเริ่มปรับตัวลดลงแต่เป็นประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิด เพราะราคาพลังงานในประเทศยังมีการปรับขึ้น โดยอาจมีการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)
รวมทั้งจะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ที่ปัจจุบันถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ราคา 315 บาท ซึ่งเมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้นจะต้องดูว่ารายได้ประชาชนจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยรัฐบางจำเป็นต้องพิจารณาส่วนนี้ให้มากกว่าเดิม แม้ว่าการตรึงราคาพลังงานในระยะยาวจะเป็นเรื่องที่ยาก
“ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการปรับขึ้นราคาพลังงานเมื่อขึ้นแล้วก็จะลงช้า อีกปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองโลกด้วย เพราะทุกฝ่ายยังไม่ถอยออกจากกันมากนัก ระบบการคว่ำบาตรยังมีและกระทบเศรษฐกิจโลก”
สำหรับราคาพลังงานที่ผันผวนส่งผลตรงกับกลุ่มอุตสาหกรรมมายาวนาน โดยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้บอกสมาชิก ส.อ.ท.ที่ยังพอช่วยเหลือได้ให้คงราคาสินค้า แต่อาจจะมีการปรับขึ้นบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง จึงเห็นว่ารัฐบาลอาจต้องมาพิจารณาเรื่องตรึงราคาและเข้าใจว่ารัฐบาลได้พยายามตรึงราคาสินค้าอยู่เหมือนกัน
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐอาจต้องสำรองเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินสนับสนุนภาครัฐ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป และต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ หากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศยังเป็นลักษณะนี้ ส.อ.ท.ต้องการเสนอให้เปิดประเทศเร็วที่สุด โดยยกเลิกระบบ Test & Go เพราะหลายประเทศเริ่มไม่สนใจแล้ว
ประเทศไทยควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวโซนยุโรปอยากมาเที่ยวประเทศไทย เพราะไม่อยากอยู่ท่ามกลางควสมขัดแย้ง ดังนั้น สิ่งที่จะตามมา คือ การลงทุนที่อยากย้ายฐานการลงทุนมายังประทศที่ปลอดภัย โดยประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ปลอดภัย เพราะสงครามโลกเกิดขึ้นทุกครั้งเกิดขึ้นทางฝั่งยุโรปหมด โอกาสการย้ายฐานการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นจะมาที่ประเทศไทย รวมถึงการเปิดกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด
“เมื่อเปิดทุกกิจกรรมทุกกลุ่มธุรกิจเป็นปกติ การบริหารจัดการด้านสาธราณสุขให้เป็นระบบ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนฉีดวัคซีน เพราะยุโรป อเมิกา สิงคโปร์ เกาหลี จะดูแค่การฉีดวัคซีนเป็นหลัก จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าผู้ที่เสียชีวิตเกิดจากกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนและเป็นกลุ่มโรคเสี่ยง”
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งผลักดันผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันเบนซินมีราคาสูง โดยผู้ใช้รถกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสงสารและน่าเห็นใจ และนโยบายด้านภาษีบวกราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแนวโน้มอีวีจะดีขึ้น จึงต้องรีบผลิตรถจักรยานยนต์อีวีให้เร็วที่สุด และเป็นจุดขายสำหรับผู้ปกครองในการซื้อให้บุตรหลาน เพราะอัตราการขับเคลื่อนจะไม่เร็วเหมือนรถน้ำมัน นอกจากจะไม่มีมลพิษแล้วยังลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยรัฐอาจจะช่วยในเรื่องของค่าไฟบ้าน อาทิ ดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านที่ติดตั้งมิเตอร์ต่ำกว่า 15 แอมป์ เป็นต้น
สำหรับต้นทุนพลังงานด้านโลจิสติกส์ ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 10% แต่จะขึ้นอยู่กับกลุ่มอุตสาหกรรม บางกลุ่มใช้เยอะและเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียน อาทิ โซลาร์รูฟ เพราะมองว่ารัฐต้องขึ้นค่าเอฟที อีกทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียนถูกลง 30-40% และเริ่มถูกกว่าฟอสซิล จึงอยากให้รัฐส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมได้ติดตั้งโซลาร์รูฟเหมือนเมื่อก่อน อาทิ ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ร่วมมือกับสถาบันทางการเงินของรัฐด้วยการปล่อยเงินกู้สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการปรับมาใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
ทั้งนี้ ล่าสุด ส.อ.ท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประกาศโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy : RE) และคาร์บอนเครดิต เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้า RE และคาร์บอน เครดิต ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ริเริ่มสนับสนุนและผ่อนคลายกฎระเบียบให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง และเปิดการอนุญาตทดลองกติการูปแบบใหม่ๆ เพื่อทดลองแนวทางที่เหมาะสมที่สามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศ
โดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของ ส.อ.ท.ใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ RE และขยายผลการศึกษา การพัฒนาไปสู่โครงการอื่นๆ ต่อไป เช่น โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของการค้าการส่งออกของประเทศไทยเป็นสำคัญ