ธปท.จับตาเงินเฟ้อพุ่ง กระทบผู้มีรายได้น้อย ยันเศรษฐกิจไทย ‘แกร่ง’
ธปท. ยันไม่จำเป็น ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ตามทิศทางดอกเบี้ยโลก หวังเป็นมาตรการสำคัญดูแลเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ชี้เงินเฟ้อพุ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว จากซัพพลายช็อคจากต่างประเทศ แต่ผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด ห่วงผู้มีรายได้น้อยลำบาก ยันเศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะ Stagfration
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปัจจุบัน ยังเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด โดยมองว่าการฟื้นตัว ไปสู่ระดับนั้นอาจเห็นได้ในปลายปี หรือต้นปีหน้า
อีกทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังมีความไม่ทั่วถึง ยังเป็นลักษณะ K-Shaped Recovery ดังนั้นในด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังคงมีความแตกต่างกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ปัจจุบันเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากระดับก่อนโควิดไปแล้ว อีกทั้งตลาดแรงงานสหรัฐมีความร้อนแรง มีการปรับขึ้นค่าจ้างต่างๆ เหล่านี้ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐมีความเสี่ยงที่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย
การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐปีนี้ จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยหรือไม่
นายปิติ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นนั้น มาจากซัพพลายช็อคจากต่างประเทศ ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงิน คงมองทะลุไปได้ระดับหนึ่ง และสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ให้ความสำคัญตอนนี้ คือ ภาคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจริงในประเทศ ที่ต้องทำให้มั่นใจว่า การฟื้นตัวจะไม่สะดุด ให้เกิดความเชื่อมั่น ส่วนปัจจัยที่ท้าทาย คือเรื่องของเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.5% ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่ยืนมาตั้งแต่ 20 พ.ค.2563 จนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบหลายปี ในการประชุมคณะกรรมการเอฟโอเอ็มซี วันที่ 15-16 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าปีนี้สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งเพื่อดูแลเงินที่พุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี
นายปิติ กล่าวว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย แต่ไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยตาม และจะไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีเงินไหลออก เนื่องจากนักลงทุนไม่มองเรื่องของผลตอบแทนเป็นหลัก
แต่จะพิจารณาเสถียรภาพทางการเงินของไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ที่ถือเป็นภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างมาก จากปัจจัยกระแทกจากปัจจัยต่างประเทศ จากการที่เรามีทุนสำรองอยู่ในสูง มีหนี้ในต่างประเทศต่ำ
นอกจากนี้นักลงทุนถือครองหุ้น พันธบัตรไม่สูงมาก ส่วนใหญ่พึ่งพาสภาพคล่องจากในประเทศ จากภาคธนาคารเป็นหลัก ปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นกันชนต่อความอ่อนไหวจากความผันผวนนของตลาดการเงินโลกที่มาจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้
“ตอนนี้นักลงทุนมอง ผลตอบแทนดอกเบี้ยเป็นเรื่องรอง แต่วันนี้ภาพใหญ่ คือความเสี่ยงของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ที่นักลงทุนมองว่าเป็นตัวหลักในการโยกเงินไปทางไหน ซึ่งเศรฐกิจไทยก็กำลัง Recover กำลังฟื้นตัวปีนี้และปีหน้าก็จะสูงกว่านี้ ด้านเสถียรภาพทางการเงินเรามั่นคงดี ดังนั้นสตอรี่เรามีเสถียรภาพ เลยไม่ได้ห่วงเรื่องเงินจะหายไปมากนัก”
เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ Stagflation
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่าย และเข้าสู่ภาวะ Stagflation ที่มาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเงินเฟ้อสูง เพราะจะเกิดภาวะนั้นได้ เศรษฐกิจไทยต้องชะลอตัวและเข้าสู่ถดถอย แต่หากมองไปข้างหน้า ยังพบว่าเศรษฐกิจไทยมีสตอรี่ของการฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้ และปีหน้า ซึ่งไม่ใช่ภาวะถดถอย ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่เข้าสู่นิยามแบบนั้น
ทั้งนี้ปัจจุบันเริ่มเห็น สำนักวิจัยต่างๆมีการปรับการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยลดลงนั้น ล่าสุดธปท. จะมีการทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลดลงเช่นเดียวกัน ในการประชุมกนง.ปลายเดือนนี้ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ดี ภาพยังไม่ได้เปลี่ยนไปมาก หรือเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจเซาเซา
น้ำมันปัจจัยเสี่ยงหลัก
นายปิติ ยอมรับว่า มีความยากและมีความท้าทายมาก ของการมองไปข้างหน้า ภายใต้ความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน โดยกรณีฐาน ธปท . มองว่าราคาน้ำมัน จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก และจะทยอยลดลงในครึ่งปีหลัง
ดังนั้นหากเป็นภาวะนี้ ก็สามารถมองข้ามได้ แต่หากน้ำมันขึ้นไปถึง 140-150 ดอลลาร์ต่อบารเรล จะทำให้ภาพการมองทุกอย่างแย่ลง แต่วันนี้ธปท.ยังไม่ได้มองขนาดนั้น
โดยมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ระยะข้างหน้าจะมีการชะลอตัวลงบ้าง จากเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น ธปท.อยู่ระหว่างการปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน หากเทียบกับประมาณการณ์เดิมเมื่อธ.ค.
ดังนั้นตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ต้องมีการประเมินภาพใหม่พอสมควร แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่ Game Changers ด้านเศรษฐกิจ แต่เป็น Game Changers ด้านเงินเฟ้อ ที่จะเปลี่ยนไปจากมุมมองเดิมของธปท.ค่อนข้างมาก
“เงินเฟ้อปีนี้ ครึ่งปีแรกมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะนอกกรอบที่มองไว้แน่นอน โอกาสที่จะเกินกรอบปีนี้ คงจะมีเยอะ
แต่สำคัญคือต้องมองภาพให้มากกว่าครึ่งปี มอง 1 ปี หรือ 1ปีครึ่ง เพราะเหล่านี้เป็นเรื่องของฐานด้วย จนกว่าจะผ่านไปปีนึง แต่สิ่งที่เราจับตาคือ เงินเฟ้อขึ้นเดือนต่อเดือน ขึ้นแล้วขึ้นต่อหรือไม่ ที่เป็นการเติมเชื้อใหม่”
สำหรับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในปัจจุบัน มี 3 ประเภทด้วยกัน ด้านแรก คือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาพื้นฐาน จากราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว ส่งผลให้ CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เงินเฟ้อที่มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรง และสุดท้าย คือเงินเฟ้อที่มาจากคาดการณ์
ซึ่งเงินเฟ้อในปัจจุบันของไทย คือประเภทแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากซัพพลายช็อคจากต่างประเทศ ที่มาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อประเภทนี้จะค่อยๆหายไป
จ่อปรับเป้าเงินเฟ้อปีนี้เกิน 3%
อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันที่ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวเพิ่มขึ้น ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของธปท.อาจเร่งตัวขึ้น และมีโอกาสเกินกรอบเป้าหมายทั้งปีที่ 3% จากกรอบเป้าหมาย 1-3% ได้
แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เป็นการปัจจัยชั่วคราว ตามปัจจัยพื้นฐาน หรือ ซัพพลายช็อก เช่น ราคาหมู และราคาน้ำมัน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งเดียว ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินยังคงมองทะลุผ่านได้ โดยยังคงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก
ดังนั้นการดำเนินนนโยบายการเงิน ก็ต้องมองทะลุ ส่วนนี้ไป และให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่า สะท้อน ว่าธปท.มองว่าเรื่องของเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยชั่วคราว
แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อ จะมีพัฒนาการเป็นไปประเภท 2 และ 3 ได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ธปท. พึ่งระวัง และเป็นห่วงอย่างยิ่งในการดูแลไม่ให้ภาวะนี้เกิดขึ้น
“ธปท.ยังมองว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะไกล โดยมองว่าคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ ที่ 1-3% ซึ่งเราต้องดูแลเงินเฟ้อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากจุดที่อยู่ในวงจำกัด ไปสู่วงกว้างและเปลี่ยนไปเป็นประเภทอื่นๆ เหล่านี้ถือเป็นความท้าทาย จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาสูง ดังนั้นการมองเงินเฟ้อระยะข้างหน้าต้องมองไปมากกว่านั้น ต้องมองไปทั้งปี และมองว่าปีหน้าเงินเฟ้อจะลงมา หากเป็นอย่างนั้นก็เป็นกลไกปกติของซัพพลายช็อก”
ผลกระทบจากราคาน้ำมันยังมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม จากผลของกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น พบว่ายังมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด ที่ส่งผ่านมาสู่ราคาสินค้าประเภทต่างๆ
โดยธปท.พบว่า สินค้าในตระกร้าราว 400 รายการ ราคายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีบางสินค้าที่ปรับลดลง มีเพียง 20% เท่านั้น ที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของราคา และปรับตัวเพิ่มขึ้นติดกันสองเดือน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหมวดพลังงานและอาหารสด
ดังนั้นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และเป็นปัจจัยที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ของไทย ปัจจุบันมีกองทุนน้ำมัน ที่ถือมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยลดแรงกระแทกจากการปรับเพิ่มยขึ้นของราคาน้ำมัน ไม่ให้ส่งผ่านไปสู่ระบบมากเกินไป
ส่วนการตรึงราคาน้ำมัน ผ่านกองทุนน้ำมัน ถือเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก ทั้งช่วยธนาคารกลาง ช่วยประชาชน แต่เหล่านี้เป็นภาระทางการคลังที่มีข้อจำกัด
ดังนั้นการช่วยลดผลกระทบ ควรช่วยคนที่ได้รบผลกระทบให้ตรงจุด และไม่ควรบิดเบือนตลาดมากนัก พยายามบรรเทา แต่ไม่ใช่ปิดกลไกตลาด และต้องเป็นมาตรการชั่วคราว ไม่ให้เป็นมาตรการที่ยั่งยืน
เงินเฟ้อ-น้ำมันพุ่งกระทบผู้มีรายได้น้อย
สำหรับเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีมิติที่กนง.ให้ความสำคัญมากในช่วงที่ผ่านมา คือการส่งผ่านผลกระทบไปสู่คนมีรายได้น้อย ที่มีการใช้จ่ายในสินค้าในหมวดอาหารเครื่องดื่มสูงถึง 45% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่ใช้จ่ายหมวดนี้เพียง 26% และพบว่าคนรายได้น้อย ยังทำงานในธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
เช่นกลุ่มท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีหนี้สูง ซึ่งในมุมนโยบายการเงินคงไม่สามรถลดผลกระทบเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ คือมาตรการทางการเงินที่ออกมาดูแลความแตกต่างลูกหนี้หลายระดับในระบบการเงินโดยรวมเพื่อลดภาระหนี้
ทั้งนี้ มองว่าราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น มีผลต่อการลดทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทุกการขึ้นของน้ำมัน 10 ดอลลาร์ต่อบาเรล ทำให้จีดีพีหายไป 0.1%
ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาก จากการประมารณ์การณ์เศรษฐกิจเมื่อเดือนธ.ค. คงมีผลต่อเศรษฐกิจไทยให้ลดลงบ้าง แต่คงไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก เพราะมีทั้งข่าวดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และข้อมูลเศรษฐกิจจริงไตรมาส 4 ที่ออกมาดีกว่าคาด
“ตอนนี้ ประเทศไทยไม่ได้เข้าสู่วิกฤติ แต่เป็นช็อคใหญ่ที่เข้ามากระทบจากต่างประเทศ แต่เรามีภูมิคุ้มกันที่ดี และมีอิมแพคน้อยจากรัสเซียยูเครน ดังนั้นไม่ได้วิกฤต แต่มีช็อคที่ทำให้ให้ราคา และเงินเฟ้อเปลี่ยนไประยะสั้น แต่ระยะ ข้างหน้าหวังว่าคงไม่เปลี่ยน”
อย่างไรก็ตามมองว่า ผลกระทบจากรัสเซียยูเครน ไม่ได้เป็นช็อคที่ใหญ่มาก ที่เข้ามากระทบเศษฐกิจไทย แต่ผลกระทบหลัก มาจากด้านราคาพลังงาน
ดังนั้นหากเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันสูงกว่าที่คาด เหล่านี้จะเป็นความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งเป็นประเด็นที่ธปท.เป็นห่วง อีกทั้งหากสงครามรัสเซีย ยูเครน มีการขยายวงกว้าง มีคนเข้ามาร่วมวงของความขัดแย้ง มีการแซงก์ชั่นมากขึ้น เหล่านี้อาจส่งผลต่อมุมมองการมองภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปได้
อีกทั้งปัจจุบันเรายังเผชิญกับโอมิครอน ที่ยังยืดเยื้อกว่าที่คาด ดังนั้นเหล่านี้คือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย ที่อาจทำให้ธปท.ปรับมุมมองในระยะข้างหน้าได้ หากสถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนไปรุนแรงมากขึ้น