‘ก.พ.ร.’ ชูความสำเร็จพัฒนาระบบราชการ ตามแผน 5 ปีการปฏิรูปประเทศ
ก.พ.ร.ชูความสำเร็จพัฒนาระบบราชการรอบ 5 ปี ตามแผนปฏิรูปประเทศ ชี้ความพอใจปรชะาชนเพิ่มขึ้น หน่วยงานระหว่างประเทศให้คะแนนประสิทธิภาพภาครัฐเพิ่มขึ้น พร้อมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการประชาชน - ธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่าในระยะ 5 ปีของการปฏิรูปประเทศ (2561 - 2565) ภาครัฐได้เปลี่ยนแปลงในหลายมิติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้ตอบโจทย์ของประชาชน และภาคธุรกิจหลายด้าน ซึ่งมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายด้านได้แก่
1.การพัฒนาบริการเพื่อความพึงพอใจของประชาชน โดยพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อบริการภาครัฐในภาพรวมสูงขึ้นทุกปี ล่าสุด ปี 2564 อยู่ที่ 84.81% โดยด้านเจ้าหน้าที่ให้บริการประชาชนพึงพอใจมากที่สุด และมีความพึงพอใจต่อการให้บริการในรูปแบบ e-Service ของที่ว่าการอำเภอ/ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ 86.53% เพราะผู้รับบริการเห็นว่าสะดวก ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
โดยความพอใจของประชาชนในการให้บริการของภาครัฐมาจากความสำเร็จของการปฏิรูประบบราชการใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การบริการของรัฐที่รวดเร็วขึ้น (Faster) สามารถปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุมัติ อนุญาต กว่า 532 ใบอนุญาต ส่งผลให้บริการเร็วขึ้นเฉลี่ย 41.71%
นอกจากนั้นยังมีความพอใจมากขึ้นของประชาชนจากการติดต่อราชการง่ายขึ้น (Easier) จากการออกมาตรการให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกการขอสำเนาเอกสารที่ราชการออกให้ประชาชน นอกจากนั้นการบริการของรัฐยังถูกลง (Cheaper) จากการลดและยกเลิกค่าธรรมเนียมในการให้บริการประชาชนแล้ว 111 ใบอนุญาต นอกจากนั้นกฎ ระเบียบผ่อนคลายมากขึ้น(Smarter Regulation) ด้วยการปรับแก้กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการประชาชน และการปลดล็อกข้อจำกัดการบริหารราชการในพื้นที่
ในส่วนของการยกระดับศักยภาพภาครัฐสู่การเป็นหน่วยงานที่มีคุณภาพในการบริการจัดการ เป็นระบบราชการ 4.0 ในระดับก้าวหน้ามากขึ้น จาก 12% ในปี พ.ศ. 2562 เป็น 47% ในปี พ.ศ. 2564 รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐได้รับการยอมรับทั้งระดับประเทศและระดับสากล ในปี 2564 มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ รวม 234 ผลงาน และได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) ขององค์การสหประชาชาติต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2564
2.การยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในการจัดอันดับระดับนานาชาติ พบว่าอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้านประสิทธิภาพภาครัฐ โดย IMD (IMD Competitive Ranking) ในปี 2564 อยู่อันดับที่ 20 จาก 64 ประเทศ ดีขึ้น 3 อันดับจากปี 2563 โดยมีปัจจัยย่อยด้านนโยบายภาษีที่ติด 1 ใน 6 อันดับแรก และด้านกฎหมายธุรกิจที่อันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2560
ส่วนอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย (Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลก อันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 49 ในปี 2559 เป็นอันดับที่ 21 ในปี 2563 และอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์โดยสหประชาชาติ ในปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศ ดีขึ้น 20 อันดับจากปี 2559 โดยในด้านการให้บริการออนไลน์ มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3.การใช้เทคโนโลยีดิจทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานบริการและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ซึ่งมีการดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนางานบริการภาครัฐออนไลน์ (e-Service) โดยเปลี่ยนรูปแบบงานบริการเป็น e-Service กว่า 343 งานบริการ จาก 117 หน่วยงานที่ตอบโจทย์ความต้องการ และความคาดหวังของประชาชน รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มกลางการให้บริการที่เดียวจบ ครบทุกเรื่อง ผ่าน Biz Portal ในการขออนุมัติอนุญาตประกอบธุรกิจ ได้ถึง 94 ใบอนุญาตใน 25 ประเภทธุรกิจ และแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ที่เชื่อมโยงงานบริการภาครัฐ 45 งานบริการ จากหลายหน่วยงานมาไว้ในที่เดียว
ในส่วนการให้ความสำคัญกับการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ เช่น เว็บไซต์ data.go.th เป็นแหล่งรวมข้อมูลเปิดภาครัฐ 3,903 ชุดข้อมูล จาก 315 หน่วยงาน การพัฒนา Government Data Exchange เป็นศูนย์เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ ช่วยลดการเรียกเอกสารซ้ำ ด้วย 38 ชุดข้อมูล จาก 7 หน่วยงาน
4.การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้ภาครัฐพร้อมรับการทำงานแบบดิจิทัล ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติราชการ โดยอนุญาตให้จัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยการประชุมผ่านสื่อและใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ การรับ-ส่งหนังสือ จัดทำ จัดเก็บเอกสารราชการอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้ และมีการออกกฎหมายกลางรองรับการปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนในการติดต่อภาครัฐ และช่วยให้ภาครัฐคล่องตัวในการทำงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น