“ฮัทชิสันพอร์ท” อัด 2 หมื่นล้าน ปั้นแหลมฉบังท่าเรืออัจฉริยะ
ฮัทชิสันพอร์ท กางแผนลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ปั้นท่าเรือแหลมฉบังขึ้นแท่นท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรก ชูบริหารตู้สินค้าเพิ่มมากกว่า 50-60% ลดการเกิดอุบัติเหตุให้เป็น 0
ในปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่การส่งออกและนำเข้าในประเทศไทยผ่านการขนส่งทางเรือยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนการขนส่งตู้สินค้ารวมอยู่ที่ 11.5 ล้าน ที.อี.ยู. ขยายตัวราว 9.7% โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง มีปริมาณการขนส่งตู้สินค้าสูงถึง 8.5 ล้าน ที.อี.ยุ. เพิ่มขึ้น 0.9% คิดเป็นสัดส่วน 74% ของการขนส่งสินค้าทางเรือของไทย
สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ท่าเรือแหลมฉบังมีศักยภาพในการรองรับขนส่งสินค้าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่กลับพบว่าทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียนั้นเป็นท่าเรือขนย้ายสินค้า เป็นเสมือนทางผ่านของการขนส่ง ขณะที่ไทยเป็นท่าเรือนำเข้าและส่งออกโดยตรง
อีกทั้งท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังพบว่าการขนส่งสินค้าทางเรือของไทยมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพสูง โดยปัจจุบันฮัทชิสันพอร์ท เปิดให้บริการในท่าเทียบเรือ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาส่วนที่เหลือของท่าเทียบเรือชุด D
สำหรับในปี 2564 ฮัทชิสันพอร์ทรองรับตู้สินค้ารวม 3.37 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 12.9% ครองสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าคิดเป็น 40% ของปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดในท่าเรือแหลมฉบัง และตั้งเป้าว่าในปีนี้ท่าเทียบเรือของฮัทชิสันพอร์ท จะรองรับปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10% จากแนวโน้มการขนส่งตู้สินค้าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.พ.2565) ที่มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นแล้ว 10%
นอกจากนี้ มีแผนเพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพัฒนาบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ฮัทชิสันพอร์ทได้จัดใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาบริการของท่าเทียบเรือด้วยระบบเทคโนโลยี ทำให้ท่าเทียบเรือของฮัทชิสันเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการเกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อีกด้วย
ทั้งนี้ ฮัทชิสันพอร์ทจะเดินหน้าตามแผนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามแนวทางด้านความยั่งยืน ปรับระบบการทำงานที่ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง มีการเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้รับบริการ และนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในด้านการขนส่งมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้รองรับในด้านบริการที่ครอบคลุมเรือสินค้าไม่ว่าขนาดใด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปเพื่อเป้าหมายของการส่งเสริม เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอีกด้วย
สำหรับแผนดำเนินธุรกิจดังกล่าว ฮัทชิสันพอร์ทมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขยะจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตามเป้าหมายของเครือที่มุ่งในการลดการใช้พลังงานดีเซลต่อ ที.อี.ยู.ลง 1% ต่อปีจนถึงปี 2566 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11% ภายในปี 2573
ตามแผนดังกล่าว ฮัทชิสันพอร์ทได้ลงทุนระบบเทคโนโลยีสนับสนุนบริการ อาทิ นำรถบรรทุกระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ปั่นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมระยะไกล ระบบ 5G สำหรับอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล รวมถึงการใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานควบคุมจากระยะไกล และเปลี่ยนไปใช้ช่องทางผ่านเข้าออกท่าเทียบเรือแบบอัตโนมัติ อีกทั้งการใช้ระบบดิจิทัลและยกเลิกเอกสารกระดาษอย่างบริการผู้ช่วยออนไลน์และการนัดหมายรับส่งตู้สินค้า
“ท่าเทียบเรือแหลมฉบังเป็นโมเดลแรกของเครือในการพัฒนาเป็นสมาร์ทพอร์ท โดยมีการลงทุนระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติต่างๆ มาใช้เป็นที่แรก และหลังจากนี้จะมีการขยายโมเดลสมาร์ทพอร์ทนี้ไปยังท่าเรืออื่นๆ ของเครือทั้ง 52 แห่งทั่วโลก”
อาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไป บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุด D มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมบริการต่างๆ เป็นปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้า โดยตามแผนฮัทชิสันจะใช้งบประมาณการลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ในท่าเทียบเรือชุด D สร้างท่าเรือเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตด้วยระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุด D กำลังเข้าสู่การก่อสร้างส่วนที่เหลือ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 3.5 ล้าน ที.อี.ยู. โดยท่าเทียบเรือชุด D จะได้รับการติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมระยะไกล จำนวน 17 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ที่เป็นระบบไฟฟ้าควบคุมจากระยะไกลทั้งหมด และเป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในโลกที่นำรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้งานร่วมกับรถบรรทุกแบบธรรมดา
สำหรับการลงทุนระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เกิดผลดดีต่อการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน ในเรื่องของการเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานสูงถึง 100% เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น สามาถบริหารตู้สินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 50-60% และส่วนสำคัญ ยังสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุให้เป็น 0
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจไม่ได้กระทบต่อภาคส่งออกมากนัก เพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศ และมีการส่งออกนำเข้าสินค้ามากขึ้น แต่ปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตาต่อภาคคส่งออกในปีนี้ คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่กระทบต่อราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานของการคมนาคม และภาคผลิต โดยเบื้องต้นต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อาจมีผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจในช่วงกลางปีนี้