“ภัยใกล้ตัว”น่ากลัวกว่าผี ต้นทุนสูง- คุณภาพแย่-ราคาตก
ปัญหาสินค้าเกษตร แก้ไขกันไม่จบสิ้น แพงไปก็ไม่ดี ถูกไปก็ไม่ได้ แต่ปีนี้หนักหน่อยเพราะมีปัจจัยนอกเหนือภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย หลักๆ คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมีและค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้นเกินจะคาดเดา
หลายปัญหารุมเร้าภาวะเศรษฐกิจ เมื่อรัสเซียประกาศทำสงครามกับยูเครน ส่งผลกระทบทันทีด้านพลังงาน ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นทะลุ120 ดอลลาร์ต่อบาเรลในระยะเวลาอันรวดเร็ว นอกเหนือจากนั้นยังทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมีปรับขึ้นด้วย
เนื่องจากรัสเซียเป็นแหล่งผลิตและส่งออก แร่โพแทสเซียม(K) และฟอสเฟต (P)สัดส่วนมากถึง60 %ของปริมาณที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยเคมีในโลก ในขณะที่ยูเครน เป็นแหล่งออกข้าวสาลีที่สำคัญเช่นกัน
ดังนั้นไทยจึงเลี่ยงผลกระทบนี้ไม่ได้ แถมร้ายไปกว่านั้น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัว ทั้งหมดบีบให้ภาคเกษตรของไทยในปีนี้ เสี่ยงตกอยู่ในภาวะต้นทุนสูง สินค้าไม่มีคุณภาพ ส่งออกลำบาก ราคาขายจ่อขาดทุน ไม่รวมผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อาจทำให้ผลผลิตเสียหาย จีดีพีเกษตรที่คาดว่าจะโตแรง 2-3 % อาจต้องปรับกันใหม่ในไตรมาสแรกนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นปัญหาแล้ว ก็ต้องวางแนวทางแก้ไข กรณีของปุ๋ยเคมี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับปากว่าจะหาปุ๋ยราคาถูกตามภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจำหน่ายให้เกษตรกร ให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มขึ้น ในเดือน พ.ค. 2565 นี้แต่จะแค่ไหน เพียงพอหรือไม่ อันนี้ค่อยว่ากันอีกที
ที่สำคัญเกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมี นั้นต้องใช้ให้เป็น ตรงกับช่วงจังหวะ ในปริมาณที่เหมาะสม และใช้อย่างถูกวิธีเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด เรื่องนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นแม่งานลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สาธิต ให้เกษตรกรรับทราบกันต่อไป
“ไทยนำเข้าปุ๋ยประมาณ 95% เพื่อผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีปริมาณเฉลี่ย 5 ล้านตันต่อปีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 60 % มาจากจากรัสเซีย จีน ” ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลาขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าว
ในขณะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์นั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศยกเลิกมาตรการ 3 ต่อ 1 หรือ การนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนเมื่อซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน เป็นการชั่วคราว
ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการต้องนำเข้าได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565 เท่านั้น และต้องนำเข้าได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนด ส่วนกรณีการเรียกร้องของผู้ประกอบการอาหารสัตว์ที่ให้ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2 % นั้น ยังไม่มีการหยิบยกมาพิจารณา
“ขณะนี้ราคาสินค้าแพงขึ้นมาก ปัจจัยหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งเคยเกิดขึ้นกรณีหมูแพงแต่ตอนนี้ราคาก็ลดลงแล้ว ดังนั้นจะต้องดูกันไปก่อนไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสินค้าจะสูงแบบนี้ถึงเมื่อไหร่"
"แต่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์คือจะคอยดูไม่ให้เกิดราคาที่สูงขึ้นจนกลายเป็นภาระกับผู้บริโภค ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถประกอบการธุรกิจต่อไปได้ และจะไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปรับราคาขึ้นแบบไม่มีเหตุผล” บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ทางออกของปัญหาที่กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์บูรณาการกันหาแนวทางนั้น อาจถูกใจทางฝั่งผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ แต่คงไม่เป็นที่พอใจนัก สำหรับกลุ่มไร่มันสำปะหลัง หรือแม้แต่โรงสี ที่หวังโอกาสราคามันสำปะหลังและปลายข้าว จะพุ่งสูงจากการใช้ทดแทน แต่ที่น่าเห็นใจที่สุด คือผู้บริโภค เพราะรับกรรมจากเรื่องนี้เต็มๆ