เปิดข้อสงสัย ทำไม "ราคาหมูไทย " ต้องแพง ?

เปิดข้อสงสัย ทำไม "ราคาหมูไทย " ต้องแพง ?

โดยปกติราคาหมูไทยจะทั้งปรับขึ้นและปรับลงตามกลไกตลาด แต่ปีนี้ราคามีแต่จะขึ้นอย่างเดียว อีกทั้งยังดึงราคาสินค้าอื่นให้สูงตามไปด้วย อะไรหนอ!!! คือเหตุให้สงสัย ทำไมหมูไทยต้องแพง ?

จนถึงขณะนี้ประเทศไทย ยังยืนยันว่าไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ African swine fever (ASF) หลังโรคนี้ระบาดไปทั่วแล้วในอาเซียน แต่ที่สุกรไทยล้มตาย ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 62 จนถึงปัจจุบันนั้น กรมปศุสัตว์ แจ้งว่าเกิดจากการระบาดของโรค PRRS หรือโรคเพิร์ส ทำให้แม่พันธุ์หมูเสียหายไปมากกว่า3 แสนตัว สุกรขุนได้รับความเสียหายไป 30% 

 

 

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ไทยยืนหนึ่งเป็นประเทศที่ปลอดจาก ASF เพราะ กรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมรับมือไว้ตั้งแต่โรคนี้ระบาดในจีนปี61  ต่อมาลามมายังเวียดนาม ทำให้สุกรล้มตายจำนวนมาก และราคาเนื้อหมูชำแหละแล้วโดยเฉพาะหมูเนื้อแดงของ 2 ประเทศนี้ปรับขึ้น 300-500 บาทต่อกิโลกรัมนับตั้งแต่บัดนั้น

 

 

 

กรมปศุสัตว์ ทำอย่างไรจึงรับมือได้อย่างดีเยี่ยมเช่นนี้ ?  ก็ใช้วิธีร่วมกับผู้ประกอบการเลี้ยงหมูในประเทศ ผลักดันให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ วงเงิน 148,542,900 บาท โดยปีงบประมาณ 62 เป็นเงิน 53,604,900 บาท ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในปีงบประมาณ 63 เป็นเงิน 52,419,000 บาท และปีงบประมาณ 64 เป็นเงิน 42,519,000 บาท

 

 

 

งบประมาณดังกล่าวไม่รวมเงินลงขันจากผู้ประกอบการ เพื่อให้กรมปศุสัตว์สร้าง buffer zone ป้องกันความสูญเสียในอุตสาหกรรมหมูไทยทั้งระบบที่มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้าน เริ่มจากแนวชายแดนริมโขงจากภาคอีสานของไทยก่อน เพราะASF รุกมาลาวจ่อไทยห่างจากชายแดนแค่ 8 กิโลเมตร

 

ขณะนั้น นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผุดไอเดียว่าต้องใช้ผู้เลี้ยงหมูตามแนวชายแดนนั่นแหละ เป็นแนวกันชนให้กับไทย โดยจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เลี้ยงที่เสียสละทำลายหมู สกัดเชื้อ ก่อนจะเข้ามายังไทย ผลจากแผนดังกล่าว ทำให้ ไทยส่งหมูออกต่างประเทศในปี 63 พุ่งขึ้นกว่า 300 % เป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม 4 ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ในขณะที่ไทยกำลังเฉลิมฉลองกับยอดส่งออกหมู ปรากฏช่วงปลายปี 62 หมูแถบภาคเหนือล้มตายจำนวนมากไล่เรื่อยลงมาจนถึงภาคกลาง และตะวันออก ประเดประดังกรมปศุสัตว์ทั้งข่าวจริงข่าวปลอม ออกมัดแก้ไขไม่ถูกเลยทีเดียว สุดท้ายประกาศลั่น นั่นคือ PRRS หาใช่ASF ไม่

 

 เมื่อ PRRS ระบาดแล้ว ก็ต้องชดเชย โดยรัฐจะจ่ายให้ 70% ของราคาสุกรวงเงิน 318 ล้านบาท ค่าจ้างขุดหลุมฝังกลบ ทำลายซาก 19 ล้านบาท รถกำจัดซาก 198 ล้านบาท รถตักซาก 10 ล้านบาท รถขนซากสัตว์ระบบปิด 79 ล้านบาท รถพ่นยาฆ่าเชื้อ 54 ล้านบาท เวชภัณฑ์ฆ่าเชื้อ108 ล้านบาท เครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรม 23 ล้านบาท วัสดุวิทยาศาสตร์สำหรับตรวจวินิจฉัย 10 ล้านบาท ค่าจ้างเหมาบริการช่วยงานสัตวแพทย์ 19 ล้านบาท และเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ 16 ล้านบาท 

 

ผลจากวันนั้น ถึงวันนี้ การระบาดของ PRRS (ย้ำ)น่าจะเป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้เนื้อหมูของไทยขยับขึ้นคาดว่าจะทัดเทียมกับราคาหมูเวียดนามและจีนในเร็วๆนี้ อันที่จริง หากจะย้อนกลับไปดูผู้เลี้ยงหมูสักนิด ยามที่เขาเผชิญกับปัญหาโรคระบาด และถูกซ้ำด้วยวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ทำให้ผู้เลี้ยงประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องถึง 3  ปี จนต้องเลิกเลี้ยงสุกรไปแล้วก็มี

 

ครั้นจะลงทุนเลี้ยงใหม่อีกที ก็ต้องลงทุนมากขึ้นเพื่อป้องกันโรคและไม่ใช่ว่าจะได้ทุนคืนกันง่ายๆ อย่าลืมว่า วงจรการเลี้ยงหมู ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ไม่เหมือนไก่เนื้อที่มีอายุเพียง 45 วัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคไทยต้องทำใจยอมรับ คือต่อจากนี้ราคาหมูมีแต่จะปรับขึ้นไปอีกสักระยะ

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์