ปรับพอร์ต"หุ้นโรงพยาบาล"รับเกณฑ์“ยูเซ็ปพลัส”
ตลาดหุ้นช่วงนี้ยังเต็มไปด้วยความผันผวน ท่ามกลางสารพัดปัจจัยลบกดดัน ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่สร้างความปั่นป่วนไปทั้งโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน ทองคำ เหวี่ยงแรง ส่วนตลาดหุ้น “ขึ้นสุด-ลงสุด” ประหนึ่งนั่งรถไฟเหาะตีลังกา
ขณะที่ “ประตูดอกเบี้ยขาขึ้น” ถูกเปิดอย่างเป็นทางการ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ในอัตรา 0.25% สืบเนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงปรี๊ด!
ส่วนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังวางใจไม่ได้ ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีน ฮ่องกง พุ่งแรงอีกครั้ง จนต้องกลับมาล็อกดาวน์รอบใหม่ในหลายพื้นที่
จากปัจจัยลบต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นงานหนักสำหรับนักลงทุนในการเลือกเฟ้นหุ้นเข้าพอร์ตช่วงนี้ เนื่องจากแทบไม่มีหุ้นตัวไหนกลุ่มไหนเลยที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะโดนหางเลขกันถ้วนหน้า แต่อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป
“หุ้นโรงพยาบาล” เป็นหนึ่งกลุ่มที่พอประคับประคองตัวไปได้ ท่ามกลางมรสุมรุมเร้ามากมาย โดยผลกระทบจาก สงครามรัสเซียยูเครน ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสัดส่วนผู้ป่วยจากทั้ง 2 ประเทศที่มารักษาตัวในไทยยังน้อย ส่วน “เงินเฟ้อ” ที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีผลโดยตรงต่อต้นทุน แต่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้ใช้บริการได้
ส่วนการให้บริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อ ไปจนถึงรักษาผู้ป่วยโควิด กลายเป็นรายได้หลักของหลายโรงพยาบาลตั้งแต่เกิดโรคระบาดมาร่วมกว่า 2 ปี
แต่ล่าสุดสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังสูง แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ภาครัฐจึงตั้งเป้าประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค. นี้ และนำมาสู่การปรับเกณฑ์รักษาผู้ป่วย
โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่มาตรการ UCEP COVID Plus มีผลบังคับใช้ ซึ่งผู้ป่วย “กลุ่มสีเหลือง” และ “สีแดง” เท่านั้นที่ยังมีสิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ส่วนกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง หรือ “กลุ่มสีเขียว” ต้องรักษาตามสิทธิที่ตนเองมีอยู่เท่านั้น เช่น สิทธิข้าราชการ, ประกันสังคม, บัตรทอง หรือ ประกันสุขภาพที่ซื้อไว้
แน่นอนว่าเมื่อกฎเกณฑ์เปลี่ยนไป ย่อมมีทั้งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ โดยบล.กรุงศรี ระบุว่า ตามมาตรการเดิม UCEP COVID ผู้ป่วยที่มีสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะเลือกเข้ารับบริการที่ดีกว่าจากโรงพยาบาลเอกชน แต่ตามมาตรการใหม่ UCEP COVID Plus ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนกลุ่มสีเขียวที่อาการไม่รุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการรัฐของตนเอง ซึ่งมักจะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก
ฝ่ายวิจัยจึงคาดว่าจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการในกลุ่มบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH, บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG รวมทั้งกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล ในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ (BDMS) ลดลง
โดยขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการเบิกจ่ายค่ารักษาของประกันสังคมจะใช้งบประมาณจากส่วนไหน ซึ่งประเด็นนี้จะทราบเมื่อประกันสังคมประกาศในภายหลัง เบื้องต้นแนวทางที่เป็นไปได้ คือ
แนวทางที่1 : ประกันสังคมใช้งบจาก UCEP COVID ซึ่งจะไม่มีประเด็นต้องกังวล แต่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการตั้งงบสำหรับ UCEP COVID หรือไม่ หลังจากมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
แนวทางที่ 2 : ประกันสังคมใช้งบโรคความเสี่ยงสูง หรือ งบภาระเสี่ยง ซึ่งตามแนวทางนี้ โรงพยาบาลอาจได้รับเงินน้อยกว่าที่เรียกเก็บ ถ้าหากค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกินกว่างบประมาณที่สำนักงานประกันสังคมตั้งไว้ ซึ่งในแต่ละปีประกันสังคมตั้งงบโรคความเสี่ยงสูงที่ 746 บาท และตั้งงบภาระเสี่ยง 453 บาท ของจำนวนสมาชิก (13.1 ล้านคน ณ ม.ค. 2565) และจะใช้งบในแต่ละปีให้หมด
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยมองว่า บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH จะได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่นี้น้อยที่สุด เพราะมีสัดส่วนรายได้จาก UCEP COVID ต่ำมาก ขณะที่ BDMS มีสัดส่วนเพียง 8% ของรายได้รวมในปี 2564 เท่านั้น จึงเป็น Top Pick ของกลุ่ม
ส่วน BCH และ CHG จะได้รับผลกระทบเยอะกว่า เพราะมีสัดส่วนรายได้ UCEP COVID จำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน 56% และ 52% ของรายได้รวม ตามลำดับ