ภาคธุรกิจขอแรงหนุน ลงทุน "สตาร์ทอัพ"

ภาคธุรกิจขอแรงหนุน ลงทุน "สตาร์ทอัพ"

มาตรการส่งเสริมการลงทุนสตาร์ทอัพที่ออกมายังเป็นช่วงเริ่มต้น ซึ่งในอนาคตภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งด้านภาษี การพัฒนาบุคลากรและเงินทุน

ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำเพื่อนำมาใช้ในปีงบประมาณ 2566-2570 ซึ่งมีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการจัดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครั้งนี้แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดประเด็นที่จะโฟกัสให้ชัดเจนขึ้นรวม 13 ประเด็น หรือ 13 หมุดหมาย โดยจะพลิกโฉมประเทศเพื่อสร้างแนวทางที่จะยกระดับประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

การจัดทำแผนครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะปรับโครงสร้างภาคผลิตและบริการ สู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นไม่ตํ่ากว่า 8,800 ดอลลาร์ รวมทั้งพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ลดช่องว่างความเป็นอยู่ของประชากร การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และที่สำคัญคือ การเสริมสร้างสมรรถนะประเทศ พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน รวมทั้งการสร้าง “เทค สตาร์ทอัพ” อย่างน้อย 6,000 แห่ง

สตาร์ทอัพจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ภาครัฐและภาคเอกชนกำลังเร่งผลักดัน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่จะเห็นบริษัทขนาดใหญ่เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจในทิศทางเดียวกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนทางธุรกิจจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะการร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีความคล่องตัวในการดำเนินการ

ในขณะที่ภาพรวมของการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยมีความท้าทายและอุปสรรค โดยเฉพาะการที่จำนวนประชากรของไทยไม่มากเมื่อเทียบอินโดนีเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งทำให้สตาร์ทอัพของอินโดนีเซียขายตัวได้เร็วมาก

แต่การที่จำนวนประชากรของไทยมีจำกัดไม่ถือเป็นข้อจำกัดใหญ่ที่สุด ซึ่งจะเห็นสตาร์ทอัพของสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์นหลายราย ดังนั้น การส่งเสริมสตาร์ทอัพยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโมเดลธุรกิจ แพลตฟอร์มการใช้งาน และความสามารถในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ

ข้อจำกัดอีกด้านของไทยอยู่ที่จำนวนคนเก่งที่จะมาทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพไทย โดยคนเก่งจำนวนไม่น้อยยังทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ รวมทั้งการเริ่มต้นธุรกิจในระยะแรกของสตาร์ทอัพจะเจอปัญหาไม่มีผู้มาร่วมลงทุน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทรายใหญ่ที่มีแผนลงทุนกับสตาร์ทอัพจะมองความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้วย ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการลงทุนสตาร์ทอัพที่ออกมายังเป็นช่วงเริ่มต้น ซึ่งในอนาคตภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งด้านภาษี การพัฒนาบุคลากรและเงินทุน