'บิ๊กคอร์ป' ขยับแรง!! ลุยลงทุน “สตาร์ทอัพ”!!

'บิ๊กคอร์ป' ขยับแรง!! ลุยลงทุน “สตาร์ทอัพ”!!

'บิ๊กคอร์ป' ลุยลงทุน “สตาร์ทอัพ”‘ดับบลิวเอชเอ โออาร์ เอสซีจี แสนสิริ’ หวังต่อยอด-ปรับสู่ นิว บิซิเนส ‘อสังหาฯ -ค้าปลีก’ เร่งผนึกสตาร์ทอัพดึงนวัตกรรมเสริมแกร่ง

“บิ๊กคอร์ป” เปิดแผนลุยลงทุน สตาร์ทอัพ ขับเคลื่อน New business เร่งดันนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ “ดับบลิวเอชเอ” รุกลงทุน 2 สตาร์ทอัพ พัฒนาโลจิสติกส์ “โออาร์” เดินหน้าลงทุน 5 สตาร์ทอัพ ต่อยอดธุรกิจ “เอสซีจี” ขยายลงทุนซีรีส์ “ซี-ดี” ด้าน มิตรผล หนุนฟู้ดเทค สตาร์ทอัพ พฤกษาฯ ลุย “พร็อพเทค-เฮลธ์เทค” “แสนสิริ” ดึงสตาร์ทอัพ 4 ด้านเสริมทัพ ‘กลุ่มค้าปลีก’ ผนึกกำลังร่วมสตาร์ทอัพหวังดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งบริการ

การปรับโครงสร้างเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” และกลุ่มผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นในการสร้างนวัตกรรม คือ กลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยี มีกรอบความคิดใหม่ๆ สวนทางกับธุรกิจแบบดั้งเดิม ความคิดสร้างสรรค์ของสตาร์ทอัพ นำมาซึ่ง “โซลูชั่น” ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้ผู้คน ทั้งหนุนให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด เป็นเหตุผลที่ “บิ๊กคอร์ป” ชั้นนำของประเทศต่างเปิดรับ “สตาร์ทอัพ” ที่มีไอเดียดีต่อยอดธุรกิจไปสู่โมเดลใหม่ตอบโจทย์โลกอนาคต เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กร
 

สตาร์ทอัพดันเทคคอมพานี

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอกรุ๊ป กำลังเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ Digital Innovation and Transformation สู่การเป็น Tech Company ในปี 2024 โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ต่อยอดธุรกิจร่วมกับพันธมิตรบริษัทใหญ่และสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ที่เกิดขึ้นตามเมกะเทรนด์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การพัฒนา Smart Warehouse การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาปรับใช้ร่วมกับ Smart Logistics การเทรดพลังงานและคาร์บอนเครดิต การจัดเก็บและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เชิงลึก เพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ พร้อมต่อยอดผ่าน AI และ Machine Learning ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการดำเนินงานระยะยาว
 

ในปี 2564 ดับบลิวเอชเอ ลงทุนสตาร์ทอัพ 2 แห่ง ได้แก่ 1.GIZTIX สตาร์ทอัพด้าน e-Logistic ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ กับผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศ 2.Storage Asia ผู้ให้บริการให้เช่าพื้นที่เก็บทรัพย์สินส่วนบุคคลระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ “i-Store Self Storage”

“โออาร์”ลุยลงทุน5สตาร์ทอัพ

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า โออาร์ ร่วมมือกับกองทุน 500 TukTuks ตั้งกองทุน ORZON Ventures ที่ทุนเริ่มแรก 25-50 ล้านดอลลาร์ หรือ 750-1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพใหม่ระดับซีรีย์ A-B ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้น โดยเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโออาร์และธุรกิจใหม่ในยุทธศาสตร์ Mobility & Lifestyle เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจระยะยาว

ทั้งนี้ ORZON Ventures ได้ลงทุนสตาร์ทอัพ 5 รายแรก ที่กำลังเติบโตเร็วในไทยและอาเซียน ดังนี้

1.Pomelo แพลตฟอร์มและแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชั้นนำในอาเซียน ครอบคลุมการซื้อขายรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ปัจจุบันผันตัวมาเป็น Omnichannel Enabler มีแบรนด์เข้าร่วมแล้วมากกว่า 500 ราย

2.Carsome แพลตฟอร์มซื้อ-ขายรถยนต์มือ 2 ออนไลน์ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

3.Freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบครบวงจร สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ HoReCa (โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป

4.GoWabi แพลตฟอร์มชั้นนำของไทยที่รวบรวมทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับบริการทางด้านความงามและสุขภาพไว้ในที่เดียว

5.Protomate ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยี AI สัญชาติไทยที่ได้ประยุกต์นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

“นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการลงทุน ถือเป็นยุคทองของอาเซียน และจะมียูนิคอร์นเกิดขึ้นอีกมากมายในภูมิภาคนี้ โดย ORZON Ventures จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันผู้ประกอบการในอาเซียนร่วมกับโออาร์”

“เอสซีจี”ขยายลงทุนซีรีส์“ซี-ดี”

นายประกิจ วรวัฒนนนท์ กรรมการผู้จัดการ AddVentures SCG กล่าวว่า แนวทางลงทุนร่วมสตาร์ทอัพปี 2565 จะบริหารความเสี่ยงของพอร์ตที่ลงทุนไปแล้ว 1,300 ล้านบาท จากงบลงทุน 3,000 ล้านบาท ด้วยการหาจังหวะเหมาะสมที่จะถอนทุน (Exit) เพื่อทำกำไรจากเงินลงทุน ให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนกลับมา ซึ่งแผนการลงทุนปี 2565 จะปรับจุดโฟกัส แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ

1.การเลือกลงทุนเชิงพื้นที่ จากประสบการณ์การลงทุนในอินเดียที่สำเร็จมาก จึงทำให้อินเดียเป็นพื้นที่ที่สนใจหาโอกาสลงทุนมากขึ้น รวมทั้งในจีนที่มีสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จจำนวนมาก รวมถึงอาเซียนที่ยังคงเป็นที่น่าจับตามอง 2.เลือกลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ระยะเติบโต คือ Series-C และ Series-D จากช่วงแรกที่เลือกลงทุนกลุ่มที่อยู่ระยะเริ่มต้น Series-A และ Series-B ลงทุนเฉลี่ยต่อราย 1 ล้านดอลลาร์ โดยจะเพิ่มการลงทุนเฉลี่ย 5-10 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเอสซีจี ลงทุนโดยตรง และผ่านกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพไทย 5 ราย ได้แก่ ‘Baania’ แพลตฟอร์มซื้อขายบ้านและอสังหาริมทรัพย์ ‘BUILK’ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์งานก่อสร้างครบวงจรให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ GETLINKS แพลตฟอร์มจัดหางานแก่บริษัทเทคโนโลยีและองค์กรขนาดใหญ่ , GIZTIX บริการโลจิสติกส์สำหรับเอสเอ็มอี และ HG robotics ให้บริการหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นสำหรับเกษตรกรรม รวมทั้งลงทุนกับสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซียและอินเดีย รวม 11 ราย

“มิตรผล”หนุนฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ

นายวรเดช ฉันทศาสตร์โกศล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Energy & New Business บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า มิตรผลจับมือกับ มีท อวตาร ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทย ต่อยอดธุรกิจ Food Tech Startup ให้เติบโตแข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมอาหารไทยสู่ตลาดโลก รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่ซับซ้อนและเป็นความรู้ใหม่ของมิตรผล

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลสนับสนุนสตาร์ทอัพ โดยเสริมทัพด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมอาหารที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสริมศักยภาพกระบวนการผลิต เพื่อเตรียมรองรับการขยายฐานการเติบโต เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้า

“เดลต้า”ตั้งกองทุนแองเจิลฟันด์

นายยงยุทธ ภักตร์ดวงจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายรัฐบาลและกิจสาธารณะของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา เดลต้า สนับสนุนทุนให้เปล่ากับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage) ผ่านโครงการ Delta Angel Fund รวม 183 ทีม ซึ่งระยะหลังเห็นสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จมากขึ้น

ปี 2565 เดลต้า ร่วมมือกับพันธมิตรเอกชนให้เข้ามาเติบเต็มและเป็นการตั้งโจทย์ใหญ่ให้กลุ่มสตาร์ทอีพที่ร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจที่เชื่อมโยงกับองค์กรเอกชนเพื่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจในระยะต่อไปได้

“เอ็กโก”พัฒนาแพลตฟอร์มขายไฟ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า เอ็กโก กรุ๊ป ลงทุนในสตาร์ทอัพ “เพียร์ พาวเวอร์” ช่วงปลายปี 2564 ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการด้านการเงินในธุรกิจของเพียร์ พาวเวอร์ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคการกระจายศูนย์ของธุรกิจพลังงาน และร่วมมือกับเพียร์ พาวเวอร์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจไฟฟ้าของเอ็กโก กรุ๊ป ในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนสำหรับใช้กับศูนย์ข้อมูลและระบบประมวลผลของเพียร์ พาวเวอร์

“เราหาโอกาสตอบโจทย์ธุรกิจใหม่ การลงทุนครั้งนี้ใช้เงินไม่มาก แต่ต้องการดูสตาร์ทอัพใหม่ เพื่อหาอากาศในการลงทุนใหม่ที่ตอบรับกับยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น” นายเทพรัตน์ กล่าว

อสังหาลุย พร็อพเทค-เฮลธ์เทค

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้พฤกษา คือ ลงทุนกับสตาร์ทอัพหรือบริษัทๆ อื่นเพื่อนำนวัตกรรมมาใช้ ล่าสุดบริษัทลงทุน 3,500 ล้านบาท จัดตั้ง Corporate Venture Fund เน้นลงทุนสตาร์ทอัพ 3 ด้านที่เกี่ยวกับพร็อพเทค (PropTech) เฮลธ์เทค (HealthTech) และ สิ่งแวดล้อม เพื่อนำนวัตกรรมมาต่อยอดให้กับพฤกษาและโรงพยาบาลวิมุต ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือก 100 ราย

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาตอบรับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยในยุคดิจิทัล รวมถึงพัฒนายกระดับองค์กรแสนสิริก้าวสู่ Performance Organization ซึ่งมี “สิริ เวนเจอร์ส” เป็นหน่วยงานพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมผ่านพาร์ทเนอร์และสตาร์ทอัพ

แสนสิริ ลงทุนในสตาร์ทอัพ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เทคโนโลยีการก่อสร้าง ในสัดส่วน 20% ของงบลงทุน เน้นเทคโนโลยีช่วยควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง 2.เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน สัดส่วน 30% มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด และกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ 3.เทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 20% มุ่งรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ และ Tokenization 4.เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยและสุขภาพ สัดส่วน 30% เน้นความปลอดภัย สะดวกสบาย โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียง ล่าสุดได้ติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถไฟฟ้าของชาร์จ แมเนจเม้นท์ในโครงการ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่แสนสิริร่วมลงทุนด้วย เป็นต้น

ค้าปลีกดึงสตาร์ทอัพลุยโมเดลใหม่

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ กล่าวว่า สยามพิวรรธน์ลงทุนต่อเนื่องใน“ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” และ“ดิจิทัลบิสสิเนส” รวมทั้งฟินเทค ไฟแนนซ์เชียล แพลตฟอร์ม เพื่อเช่ื่อมต่อลูกค้าเข้าสู่ “วันสยามซูเปอร์แอพ” ที่จะเป็นส่วนหนึ่งการใช้ชีวิตประจำวัน ลูกค้ามีวอลเล็ตของตัวเอง มีดิจิทัลแอสเสท เทรดได้บนแพลตฟอร์มนี้

“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ เราสร้างกองทัพไม่ทัน การร่วมลงทุน ถือหุ้น หรือสนับสนุน ในเทคคอมปะนี เทคสตาร์ทอัพ อยู่ในกลยุทธ์ของสยามพิวรรธน์ ทำแบบฟาสท์แทร็ก Speed is King หากธุรกิจจะก้าวสู่ดิจิทัลแอคทิวิตี้ ทั้งหมดนั้น เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองการผนึกความร่วมมือเสริมทัพ เฟ้นคนรุ่นใหม่เข้ามาในหลายสายงาน จึงเป็นแนวทางที่สำคัญ"

ที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์ร่วมกับสตาร์ทอัพ ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace ภายใต้ภารกิจของ KASIKORN X(KX) มุ่งผลิตสตาร์ทอัพระบบการเงินแบบกระจายอำนาจผ่านบล็อกเชน หรือ Decentralized Finance and Beyond ได้ผนึกกำลังกับสยามพิวรรธน์ในฐานะพันธมิตรรายแรก สร้างศูนย์รวมและต่อยอดนวัตกรรมศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์ไตล์ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้ลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศ

ขณะที่บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพไทย “Mercular” ที่มียอดขายออนไลน์มากที่สุดในกลุ่มสินค้า Hobby Lifestyleผ่านการจับมือกับเพาเวอร์บายผู้นำร้านจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเครือเซ็นทรัลรีเทล เพื่อต่อยอดช่องทางการขายจากอีคอมเมิร์ซสู่แพลตฟอร์มออมนิชาแนลและขยายตลาดสินค้ากลุ่ม Hobby & Lifestyle