โรดแมพ‘สิงห์เอสเตท’5ปีลงทุน5หมื่นล.ซินเนอร์ยีต่อยอดธุรกิจปั๊มรายได้
แม้ปีนี้ธุรกิจเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองนอกประเทศกระทบมู้ดการเดินทางท่องเที่ยว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ แต่กำลังซื้อและสถานการณ์ต่างๆ ที่เริ่มคลี่คลายจึงเป็นโอกาส "สิงห์เอสเตท"เคลื่อนทัพลงทุนซินเนอร์ยีต่อยอดธุรกิจปั๊มรายได้
ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 5 ปีจากนี้ ทิศทางธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท พุ่งเป้าสร้างซินเนอร์ยี 4 กลุ่มธุรกิจหลัก เชื่อมโยงสู่โอกาสและต่อยอดธุรกิจใหม่ สร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ก้าวสู่อสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของประเทศไทย
โดยจัดสรรงบกว่า 50,000 ล้านบาทลงทุนช่วง 5 ปี ผลักดันการเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี ซึ่งปี 2565 ตั้งงบ 11,000 ล้านบาท ลงทุนธุรกิจที่พักอาศัย 60% คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบซื้อที่ดิน 4,000 ล้านบาท งบลงทุนในโครงการ 2,000 กว่าล้านบาท ธุรกิจโรงแรม ลงทุน1,500 ล้านบาท เน้นพัฒนาโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วเพื่อความสามารถในการทำกำไรจากโรงแรมในอังกฤษ หรือในฟิจิ ธุรกิจอาคารสำนักงานใช้งบ 1,000 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จ.อ่างทอง ใช้งบลงทุน 1,500 ล้านบาท
“ปี 2565 เรามุ่งสร้างความแข็งแกร่งด้านรายได้ผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงการร่วมทุนกับพันธมิตร การนำทรัพย์เข้ากองเอสไพรม์ โกรท(SPRIME) เป็นไปตามกลยุทธ์บริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอที่จะมีการ Recycle capital สร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน รองรับการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ SPRIME ขึ้นเบอร์ 1 กองทรัสต์ประเภทอาคารสำนักงาน คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวอยู่ที่ 13,400 ล้านบาท เป็นนิวไฮจากผลงานปี 2564 มีรายได้รวม 7,739 ล้านบาท”
ปีนี้ธุรกิจที่อยู่อาศัย ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 50% จากการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ 2 โครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ และ ดิ เอส อโศก รวมถึงบ้านแนวราบ “สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส” มีแบ็คล็อก 2,600 ล้านบาท คาดรับรู้รายได้ 70% และมีแผนเปิดแนวราบเพิ่มอีก 1 โครงการบ้านเดี่ยว ย่านพัฒนาการ มูลค่า 2,900 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 50-80 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจอาคารสำนักงาน มีการเปิดตัวทางการโครงการ เอส โอเอซิส ช่วงกลางปี ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานพร้อมพื้นที่รีเทลย่าน 5 แยกลาดพร้าว พื้นที่รวม 55,700 ตร.ม. คาดมีอัตราเช่าพื้นที่ 50% ในปีที่เปิดให้บริการ รวมถึงการกลับมาเปิดตัวอีกครั้งของโครงการ เอส เมโทร อาคารสำนักงานหรูย่านพร้อมพงษ์
ขณะที่ธุรกิจโรงแรมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดมีรายได้ 8,500 ล้านบาท ก้าวสู่ผู้ประกอบการโรงแรมไทยที่มียอดรายได้สูงเป็นอันดับ 2 เป็นผลมาจากกลยุทธ์ธุรกิจแบบกระจายความเสี่ยง ผ่านการมีโรงแรมในเครือที่ตั้งอยู่ในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
โดยเฉพาะพอร์ตในสหราชอาณาจักรและมัลดีฟส์ ที่มีการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวเร็วที่สุดของโลก ซึ่งโรงแรมของ สิงห์ เอสเตท ในมัลดีฟส์ สามารถเที่ยวได้ตลอดปี ฉะนั้นลูกค้าในแต่ละประเทศจะมาเที่ยวในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน สถานการณ์ปัจจุบันจึงยังไม่มีผลกระทบทางตรง
“ธุรกิจโรงแรมยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ซึ่งบริษัทได้ปรับปรุงและพัฒนาโรงแรมในเครือ เพิ่มรูปแบบบริการเพื่อกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เช่น เพิ่มห้องพักแบบพูลวิลล่าในรีสอร์ทที่มัลดีฟส์รองรับลูกค้าตะวันออกกลาง ปรับสมดุลพอร์ตผ่านกลยุทธ์หมุนเวียนและต่อยอดการลงทุน ยกระดับบริการ รวมถึงราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้น 10-20% คาดโรงแรมที่ปรับปรุงใหม่จะสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 40%”
ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม มีความพร้อมในการรับรู้รายได้จากการขายและโอนที่ดินเป็นปีแรก ตั้งเป้าโอนที่ดินปีนี้ 15% ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีพื้นที่ขาย 992 ไร่
"บริษัทคาดรายได้ปีนี้เติบโตเกือบ 2 เท่า คิดเป็นมูลค่า 13,400 ล้านบาท มาจากธุรกิจที่อยู่อาศัย 25% อาคารสำนักงาน 8% โรงแรม 63% และนิคมอุตสาหกรรมและอื่นๆ 4%"
ธุรกิจหลักที่ผลักดันรายได้ คือ ธุรกิจโรงแรม มีรายได้กว่า 8,000 ล้านบาท บนสมมติฐานแบบคอนเซอร์เวทีฟที่การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นช่วงไตรมาส 3 ส่วนที่สองมาจากธุรกิจที่พักอาศัยที่มีแบ็คล็อกพร้อมโอนเกินครึ่งของการรับรู้รายได้กว่า 3,000 ล้านบาท ตามด้วยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
“โควิดทำให้คนมองหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ การปรับตัวรับกับเวลเนส หรือ ซีเนียร์ลิฟฟวิ่ง ที่ สิงห์ เอสเตท ให้ความสนใจ ขึ้นอยู่กับว่าจะร่วมมือพันธมิตรที่แข็งแรงด้านไหนเพื่อขยายธุรกิจให้กว้างขึ้นทั้งกรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยวเมดิคัลฮับอย่าง ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ หรือพัทยา”
บริษัทให้ความสำคัญกับดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น มีการทำ “เวอร์ชวล ทัวร์” ในการซื้อขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่า การจองโรงแรมผ่านดิจิทัลโทเคนโดยเฉพาะโรงแรมในต่างประเทศ
สำหรับการเติบโตธุรกิจโรงแรมในไทย ปัจจุบันเปิดบริการ 3 โรงแรม ได้แก่ ทราย (SAii) พีพี ไอส์แลนด์, ทราย ภูเก็ต และ สันติบุรี สมุย หากสถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้นเชื่อว่าแฟนคลับ 3 โรงแรมนี้จะกลับมา!