สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" กับผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารโลก
"รัสเซีย-ยูเครน" ผลิตอาหารป้อนประชากรโลกคิดเป็น 12% ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดที่คนบนโลกบริโภค สงครามกำลังกระทบการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหาร กดดันให้ราคาอาหาร เงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้รับผลกระทบรุนแรงคือคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อยในประเทศต่างๆ
“รัสเซียและยูเครน” เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดพืชสำหรับผลิตน้ำมัน ปุ๋ยและวัตถุดิบผลิตปุ๋ย หลายท่านอาจไม่ทราบรัสเซียและยูเครนผลิตอาหารป้อนประชากรโลกคิดเป็น 12% ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดที่คนบนโลกบริโภค
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ต่อรัสเซียที่เกิดขึ้น กำลังส่งผลต่อความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรของยูเครนและจำกัดการส่งออกของรัสเซียให้ลดลง ระบบการขนส่งและท่าเรือของยูเครนหลายแห่งถูกทำลายเสียหาย ไม่สามารถขนสินค้าและส่งออก ทำให้อุปทานสินค้าเกษตรหลายชนิดทั่วโลกหายไป สร้างความท้าทายต่อการจัดการห่วงโซ่การผลิตและการบริโภคอาหารของคนทั้งโลก
ตัวอย่างความสำคัญของรัสเซียและยูเครนต่อตลาดสินค้าเกษตรโลก เช่น รัสเซียและยูเครนขายข้าวสาลีคิดเป็นหนึ่งในสี่ของปริมาณการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ปัจจุบันมีอย่างน้อย 26 ประเทศที่ครึ่งหนึ่งของข้าวสาลีนำเข้าจากรัสเซียและยูเครน สินค้าส่งออกกว่า 45% จากยูเครนเป็นสินค้าเกี่ยวกับการเกษตร หรืออย่างในกรณีข้าวโพด เฉพาะยูเครนประเทศเดียว ส่งออกข้าวโพดคิดเป็น 16% ของปริมาณการส่งออกข้าวโพดของทั้งโลก ขณะที่สองประเทศขายข้าวโพดรวมกันคิดเป็นหนึ่ในเจ็ดของปริมาณการค้าข้าวโพดทั้งโลก
ผลของสงครามทำให้สินค้าเกษตรทั่วโลกขาดแคลน มีราคาสูงขึ้น นอกจากข้าวสาลีที่รัสเซียกับยูเครนส่งออกมากแล้ว ยังมีข้าวโพดที่นำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ เมล็ดพืชน้ำมันประเภทต่างๆ ที่นำไปผลิตน้ำมันพืชปรุงอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ย ที่หากขาดแคลน ราคาแพงขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง และดันราคาสินค้าอื่นให้แพงขึ้นตาม
หลายประเทศพึ่งพาสินค้าเกษตรจากรัสเซียและยูเครนเป็นหลัก เช่น เลบานอนพึ่งพาข้าวสาลีจากยูเครนคิดเป็น 50% ของการบริโภค เช่นเดียวกับลิเบียพึ่งพา 43% เยเมนพึ่งพา 22% บังคลาเทศพึ่งพา 21% หรืออียิปต์ที่นำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนคิดเป็น 86% ของการนำเข้าทั้งหมด
ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนเกิดสงคราม ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารและผลิตผลการเกษตรได้รับความท้าทายอยู่แล้ว จากสถานการณ์โควิด 19 และวิกฤตโลกร้อน ดัชนีราคาอาหารโลก (World Food Price Index) ในช่วงปีที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นทำลายสถิติต่อเนื่อง ทำให้มีประชากรโลกตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารสูงสุดในรอบ 15 ปี และล่าสุดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กำลังซ้ำเติมวิกฤตห่วงโซ่อาหารให้หนักขึ้น
ภาวะสงครามกำลังก่อผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารโลกในอย่างน้อย 5 เรื่อง
1. สินค้าเกษตรหลายชนิดเสี่ยงอยู่ในภาวะขาดแคลน และราคาแพงขึ้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะทำให้ข้าวสาลีมีแนวโน้มแพงขึ้น 9% และหากสงครามก่อผลกระทบรุนแรง ในระยะสั้นข้าวสาลีจะแพงขึ้นถึง 21% หรืออย่างไทยที่ราคาปุ๋ยแพงขึ้น ตุรกีที่ราคาน้ำมันปรุงอาหารแพงขึ้นไปแล้ว
2. จำนวนผู้คนทั่วโลกที่ตกอยู่ในภาวะอดอยากหรือขาดสารอาหารเสี่ยงเพิ่มขึ้น อ้างอิงจาก FAO ปัจจุบันมีเกือบ 50 ประเทศรวมถึงประเทศรายได้ต่ำหลายประเทศที่พึ่งพาข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนมากกว่าหนึ่งในสามของความต้องการบริโภคอุปโภค ซึ่งปัจจุบันมีประชากรโลกถึง 283 ล้านคนหรือใน 81 ประเทศที่อยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหารระดับสูง โดย United Nations World Food Programme (WFP) ประเมินว่า ขณะนี้มีข้าวสาลี 13.5 ล้านตันและข้าวโพด 16 ล้านตันอยู่ในรัสเซียและยูเครน ที่ไม่สามารถส่งออกได้ และประเทศยากจนอย่างอัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย ซีเรีย ที่เป็นลูกค้ากำลังถูกเลื่อนการส่งมอบ
3. ปรากฏการณ์โลกร้อนเสี่ยงซ้ำเติมภาวะขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรจากภัยสงครามให้รุนแรงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ส่งผลต่อจำนวนผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูก เช่น ประเทศจีนที่รายงานว่าผลผลิตข้าวสาลีปีนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
4. หลายประเทศมีแนวโน้มจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนในประเทศ และชดเชยผลผลิตที่แต่เดิมนำเข้าจากรัสเซียหรือยูเครน เช่น อินโดนีเซียที่เริ่มจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มทดแทนการขาดแคลนน้ำมันพืชปรุงอาหารภายในประเทศ หรืออียิปต์ที่จำกัดการส่งออกธัญพืชหลายชนิดเพราะแต่เดิมเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่จากรัสเซีย การจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรหรืออาหารจากประเทศต่างๆ จะซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น
5. ในฐานะที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ สงครามผลักดันให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแพงขึ้น งานวิจัยพบว่า สามในสี่ของต้นทุนอาหารทั่วโลกมาจากค่าขนส่งกระจายสินค้า ค่าดำเนินการแปรรูป และค่าใช้จ่ายในโรงงาน ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นเสี่ยงกระทบราคาอาหารอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับค่าปุ๋ยที่แปรผันตามราคาก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นทำให้ราคาปุ๋ยแพงขึ้นไปด้วย กระทบต้นทุนวัตถุดิบของภาคเกษตรกรรม FAO ประเมินว่า การขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น จะทำให้ปริมาณผลผลิตอาหารในแอฟริกาหายไป 30%
กล่าวโดยสรุป สงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังกระทบความสามารถในการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหาร การเข้าถึงอาหารของประชากรทั่วโลก กดดันให้ราคาอาหาร เงินเฟ้อ และค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กระทบคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้รับผลกระทบรุนแรงคือคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อยในประเทศต่างๆ รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรับมือสินค้าราคาแพง เพื่อดูแลประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
ต้องบอกว่า สงครามที่ยูเครนกำลังกระทบปากท้องผู้คนทั่วโลกจริงๆ