ซีวิลฯ เคลื่อน "นวัตกรรม" ดันองค์กรพ้นดิสรัปงานก่อสร้าง
ซีวิลเอนจีเนียริง เปิดโมเดลเคลื่อนธุรกิจก่อสร้าง ชูนวัตกรรม และเทคโนโลยีหนุนสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน ลุยหาพาร์ทเนอร์เสริมทัพ
“ซีวิลฯ เป็นธุรกิจครอบครัว ทุกวันนี้ถือว่าเรามาไกล มีการทำงานเป็นระบบ เป้าหมายผมอยากเป็นองค์กรที่ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน และความท้าทายตอนนี้ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจากรุ่นสู่รุ่น” ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาที่ใช้เทคโนโลยีก่อสร้างแบบครบวงจรชั้นนำของไทย
สำหรับธุรกิจหลัก (Core Business) ของซีวิลฯ ยังคงเป็นการบริหารจัดการคน เครื่องจักร เพื่อการทำงานให้เสร็จทันเวลา การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีในขณะนี้ ต้องเปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายของซีวิลฯ คือ การมุ่งหาพาร์ทเนอร์ที่มีความถนัดแตกต่างกันไป โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มีองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีอย่างมาก และที่ผ่านมาซีวิลฯ ได้หารือร่วมกับสตาร์ทอัพหลายราย ทั้งในด้านเงินทุน โอกาสที่จะเกิดขึ้น และโจทย์ที่มองร่วมกัน
ขณะเดียวกัน ซีวิลฯ ยังมองการใช้โมเดลธุรกิจแบบแบ่งปัน หรือ Sharing economy เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ เช่น ซีวิลฯ มีเครื่องจักรก็สามารถให้พาร์ทเนอร์เช่า หรือการมีโรงโม่หิน ก็สามารถแชร์วัสดุเหล่านี้ให้กับพาร์ทเนอร์ได้ และในทางกลับกันซีวิลฯ ก็จะนำศักยภาพที่มีอยู่ไปสนับสนุนพาร์ทเนอร์ อาทิ รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ซึ่งที่ผ่านมาซีวิลฯ ก็เข้าไปร่วมทำงานกับพาร์ทเนอร์เพื่อพัฒนาหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างรถไฟทางคู่ หรือทางด่วนพระราม 3
ปิยะดิษฐ์ ยังฉายภาพด้วยว่า ที่ผ่านมาซีวิลฯ นำร่องในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรหลายส่วน มีการลงทุนเครื่องจักรที่สามารถเพิ่มศักยภาพการทำงาน และมาตรฐานความปลอดภัยให้กับงานก่อสร้างได้ อาทิ เครื่องมือในการทำคอนกรีตที่สามารถอัดซีเมนต์เป็นแผ่นได้ในระยะเวลารวดเร็ว และแข็งแรง อีกทั้งยังมีแผนเดินทางไปหารือกับพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ เพื่อนำเข้านวัตกรรมอื่นๆ มาปรับใช้ในงานก่อสร้างด้วย
นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมของการออกแบบที่จะเข้ามาลดระยะเวลาออกแบบงานก่อสร้าง ด้วยเทคโนโลยี AI การใช้ข้อมูล Data Center เข้ามาวิเคราะห์ และการใช้ 3D Printing โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีการใช้งานแล้วในหลายประเทศ เพียงแต่ยังไม่มีการนำมาปรับใช้กับงานก่อสร้างของไทย ซึ่งซีวิลฯ มองเห็นโอกาสจากการปรับตัวในเรื่องนี้ ที่จะทำให้งานก่อสร้างในไทยยกระดับ มีความปลอดภัย และมีศักยภาพมากขึ้น
“ก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีช้าที่สุดในโลก แต่เราน่าจะต้องเริ่มทำ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ซัพพอร์ตองค์กร และการก่อสร้างให้เกิดการยกระดับคุณภาพ”
อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ การประเมินแนวโน้มของวงการก่อสร้างไทยในช่วง 10 ปีหลังจากนี้เห็นสัญญาณว่างานโครงสร้างพื้นฐานอาจลดลง เป็นวงจรจากการก่อสร้างที่เกิดขึ้นที่ตอนนี้มีจำนวนมาก และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็ทยอยเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นจุดที่การพัฒนาเพียงพอแล้วเมื่อนั้นงานก่อสร้างก็จะลดลง
โดยในปี 2565 ถือเป็นปีที่มีความผันผวน มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ทั้งต้นทุนน้ำมัน วัสดุ และราคาเหล็ก อาจทำให้งานของภาครัฐมีลดลง แต่ในทางกลับกันแนวโน้มงานภาคเอกชนจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาพรวมรายได้ของซีวิลฯ ในปัจจุบันมีสัดส่วนงานรัฐ 95% และเอกชน 5%
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์