EA เจรจาพันธมิตร “สารตั้งต้น” ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจต้นน้ำแบตเตอรี่ไฟฟ้า
EA เผย อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเข้าลงทุนธุรกิจสารตั้งต้นสำหรับแบตเตอรี่ไฟฟ้า หวังขยายโอกาสธุรกิจต้นน้ำ-ลดต้นทุนผลิต-เพิ่มรายได้ เตรียมขายหุ้นกู้แปลงสภาพกว่า 3 หมื่นล้าน ต้นเม.ย. เงินส่วนหนึ่งขยายโรงงานแบตแตะ4 กิกะวัตต์
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาดีลการลงทุนในธุรกิจสารตั้งต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบ (Raw Material) สำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยหวังจะขยายโอกาสในธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) ของธุรกิจแบตเตอรี่ไฟฟ้า จากปัจจุบันบริษัทเป็นผู้รับสารตั้งต้นดังกล่าวมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าเท่านั้น
สำหรับธุรกิจสารตั้งต้นที่จะเข้าลงทุน เป็นสารผสมระหว่างแร่ต่างๆ อาทิ ลิเทียม แมงกานีส นิกเกิล รวมถึงสารเติมแต่งอื่นๆ แต่ไม่ใช่การลงทุนในเหมืองแร่ที่นำมาใช้ผลิตสารตั้งต้นดังกล่าว ซึ่งการลงทุนในธุรกิจสารตั้งต้นจะช่วยให้บริษัทลดต้นทุนผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า
รวมถึงบริษัทสามารถต่อยอดผสมสารตั้งต้นเพื่อขายให้แก่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้ารายอื่นได้อีกด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีกำไรขั้นต้น (มาร์จิน) ค่อนข้างดี โดยคาดว่าการเจรจากับพันธมิตรที่ประกอบธุรกิจสารตั้งต้นจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้ หรือภายในปี 2565
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้ข้อมูลเสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุน (โรดโชว์) และเริ่มกระบวนการสำรวจราคา (Book Building) กับผู้ลงทุนสถาบันได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย.2565 มูลค่ารวมไม่เกิน 900 ล้านยูโร (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) โดยจะแบ่งใช้เป็นงบลงทุนเพื่อขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4 กิกะวัตต์
รวมถึงใช้เป็นงบลงทุนสำหรับโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าระหว่างเมือง (Interstate Charing Station) ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) โดยคาดว่าการระดมทุนจากหุ้นกู้แปลงสภาพในครั้งนี้จะมีงบลงทุนบางส่วนเหลือ ซึ่งบริษัทจะนำไปพิจารณาลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงแบ่งจ่ายคืนหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าการออกหุ้นกู้ฯ ในครั้งนี้
สำหรับโครงการลงทุนใหม่ในปี 2565 วานนี้ (24 มี.ค.) EA ประกาศลงนามความร่วมมือ (MoU) กับ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด เพื่อพัฒนาเรือโดยสารประจำทางไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม คาดว่ากว่าจะนำมาวิ่งในเชิงพาณิชย์ได้ยังต้องใช้ระยะเวลาพัฒนาอีกสักพัก เนื่องจากเรือโดยสารไฟฟ้ามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกับเรือไฟฟ้าทั่วไป แต่คาดว่าจะเห็นเรือต้นแบบออกมาทดลองวิ่งได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด (Smart Bus) ซึ่งเป็นผู้มีใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ประกอบธุรกิจรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคาดหวังการต่อยอดนำรถยนต์ไฟฟ้าไปบรรจุแทนรถโดยสารประจำทางแบบเดิม และคาดหวังว่าการลงทุนครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการรับรู้ (Awareness) และการยอมรับของคนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่มากขึ้น อาทิ รสบัสไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า จากปัจจุบันตลาดคุ้นเคยกับรถยนต์ส่วนบุคคลไฟฟ้ามากกว่า
ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลนั้น บริษัทมีแผนเข้าลงทุนเช่นกัน จากเดิมแผนลงทุนหยุดชะงักไปในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสภาพตลาดปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ส่งผลให้บริษัทมุ่งเน้นการสร้างฐานในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในภาคธุรกิจก่อน แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นความชัดเจนในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
เมื่อสอบถามถึงทิศทางการเติบโตในปี 2565 นายอมร กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากแรงหนุนการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าแก่ลูกค้าไม่ต่ำกว่า 1-1.5 พันคัน โดยคาดว่ามีโอกาสสูงที่เป้าหมายรายได้จะสูงกว่าที่บริษัทประเมินเอาไว้ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามปัจจัยแวดล้อมที่จะเข้ามากระทบระหว่างปีนี้ด้วย