เปิดแผนบริหารงบฯไตรมาส 2 ปี 65 สู้วิกฤติซ้อนวิกฤติ 'พลังงาน-โควิด'
สถานการณ์ราคาน้ำมัน และสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลมีการเตรียมใช้วงเงินจากหลายส่วนทั้งแหล่งเงินกู้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเพดานเงินกู้กองทุนน้ำมันฯ งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น พ.ศ.2565 รวมทั้งเงินกู้ตามพ.ร.ก.ที่เหลืออยู่
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 2565 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 60,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 89,000 ล้านบาท
สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างรอคำขอของหน่วยงานต่างๆที่จะเสนอโครงการ เพื่อเป็นคำขอใช้งบกลางในส่วนนี้เพื่อช่วยเหลือ หรือบรรเทาค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล โดยโครงการที่จะมีการเสนอขอใช้งบกลางจะมีหน่วยงานราชการเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ การจัดสรรงบกลางเพื่อใช้บรรเทาค่าใช้จ่ายพลังงานนั้นไม่สามารถใช้วงเงินงบกลางทั้งหมดที่มี 60,000 ล้านบาทได้ เนื่องจากต้องกันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งอาจเกิดขึ้น และในปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณในส่วนนี้ 20,000-30,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและรองรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่าใกล้ชิด และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำมาตรการในการลดค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชนให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยการทำโครงการจะมีทั้งลักษณะการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฉพาะกลุ่ม และมีการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพที่จำเป็นบางมาตรการออกมาด้วย
สำหรับ การช่วยเหลือด้านพลังงานจะดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ครอบคลุม 2 ส่วน คือ
1.การอุดหนุนเงินช่วยเหลือสำหรับการซื้อน้ำมันเบนซิน โดยในเบื้องต้นจะช่วยเหลือกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลร่วมกัน เพื่อแยกข้อมูลผู้จดทะเบียนรถจักรยานยนต์กับกรมขนส่งทางบก กับผู้ลงทะเบียนบัตรสวัดิการแห่งรัฐที่ระบุข้อมูลอาชีพจักรยานยนต์รับจ้าง
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลจำนวนผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือแล้วจะนำมาประเมินวงเงินที่จะขออนุมัติจากงบประมาณกลาง
2.การอุดหนุนเงินช่วยเหลือซื้อก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน โดยปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเงินอุดหนุนค่าซื้อก๊าซที่ 45 บาท ต่อครัวเรือน ต่อ 3 เดือน และจะพิจารณาเพิ่มอีก 55 บาท เป็น 100 บาทซึ่งกำลังเร่งทำแผนงบประมาณผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และจะดำเนินการให้ทันเดือน เม.ย.2565
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนก๊าซหุงต้มรอบปัจจุบันมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 รวม 2 ปี เต็ม โดยปัจจุบันถังขนาด 15 ก.ก.อยู่ที่ 318 บาท ในขณะที่ราคาจริงอยู่ที่ 440 บาท
นอกจากนี้ แหล่งเงินที่มาใช้บริหารเศรษฐกิจในช่วงนี้จะมาจากงบกลางยังมีวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินปี 2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินคงเหลือ ณ วันที่ 15 มี.ค.อยู่ที่ 74,285 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้นำมาทำโครงการสำหรับช่วยเหลือประชาชน และรักษากำลังซื้อช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19
รวมทั้งวงเงินนี้ต้องกันบางส่วนใช้สำหรับสาธารณสุข ซึ่ง ครม.ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประเมินวงเงินที่ต้องใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ถึงสิ้นปีงบประมาณ (มี.ค.- ก.ย.) ภายหลังจากปรับระบบการรักษาโควิด-19 เป็นระบบ ใช้สิทธิการรักษาแบบ UEP PLUS ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2565
สำหรับ วงเงิน 500,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 แผนงาน คือ
แผนงานที่ 1 วงเงิน 115,700 ล้านบาท ใช้สำหรับจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ วัคซีน รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาล และเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรการแพทย์
แผนงานที่ 2 วงเงิน 220,000 ล้านบาท ใช้สำหรับบรรเทาค่าใช้จ่ายประชาชน และช่วยผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจได้ต่อเนื่อง
แผนงานที่ 3 วงเงิน 164,300 ล้านบาท ใช้สำหรับรักษาระดับการจ้างงานและกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค