บริหาร "วิกฤติพลังงาน" บนงบประมาณที่จำกัด
ประเทศไทยกำลังจะออกมาตรการรับมือด้านพลังงานชุดใหญ่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงโฟกัสไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยก่อน โดยรัฐจะช่วยลดค่าใช้จ่ายก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน และลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565
ไม่เฉพาะประเทศไทยที่มีการออกมาตรการรับมือผลกระทบจาก "ราคาพลังงาน" ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบหลังจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
โดยมีหลายประเทศทยอยออกมาตรการดูแลประชาชนด้านพลังงาน ทั้งในฝั่งเอเชียและยุโรป เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฝรั่งเศส ซึ่งครอบคลุมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การอุดหนุนราคาพลังงาน การลดภาษีพลังงาน และการจัดหาพลังงาน โดยหลายชาติต้องเตรียมทั้งมาตรการและงบประมาณจำนวนมาก
ประเด็นที่ต้องจับตาดูหลังจากนี้ที่จะมีผลต่อราคาพลังงาน คือ การที่สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมหารือมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในวันที่ 24 มี.ค.2565 ซึ่งการหารือครั้งนี้จะโฟกัสไปที่มาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงาน
โดยเฉพาะการรับซื้อพลังงานจากรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ป้อนยุโรป และการคว่ำบาตรที่ผ่านมาจำกัดไปที่ด้านการเงิน ซึ่งได้ตัดรัสเซียออกจากระบบการเชื่อมต่อเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) เพราะต้องการให้รัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินกับโลกได้
สำหรับประเทศไทยกำลังจะออกมาตรการรับมือด้านพลังงานชุดใหญ่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงโฟกัสไปที่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นลำดับต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้มและอุดหนุนการซื้อน้ำมันเบนซินสำหรับจักรยานยนต์รับจ้าง
ในขณะที่มาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป เป็นการลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 การตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท ไปจนถึงเดือน เม.ย.2565 และหลังจากนั้นจะอุดหนุนเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นเพียงครึ่งเดียว
ข้อจำกัดสำคัญของการจัดมาตรการ "ลดค่าครองชีพ" ครั้งนี้ อยู่ที่จำนวนงบประมาณที่จำกัด โดยมาตรการส่วนหนึ่งต้องใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่เหลือ 60,000 ล้านบาท
แต่งบกลางนี้ ต้องกันไว้สำหรับภัยพิบัติฉุกเฉิน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่ใช้ปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท
ในขณะที่งบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2565 ที่เหลือ 70,000 ล้านบาท จำกัดเฉพาะผลกระทบโควิด-19
ในขณะที่การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนประเมินจุดจบได้ลำบาก รวมทั้งสหรัฐและยุโรปอาจคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ด้วยการงดซื้อพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
จึงเป็นคำถามสำคัญถึงความพร้อมในการรับมือของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะในประเด็นงบประมาณที่ต้องรับมือทั้งสถานการณ์พลังงาน ค่าครองชีพสูง และการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจึงต้องวางแผนการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด