นักเศรษฐศาสตร์ -การเงินโลก หวั่นคว่ำบาตรรัสเซีย ฉุดเศรษฐกิจโลก
ทูตพาณิชย์ในรัสเซีย แนะผู้ส่งออกชะลอทำการค้ารัสเซีย ป้องกันความเสี่ยง หากนานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย และรัสเซียออกมาตรการโต้กลับ ทำเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังราคาพลังงาน เงินเฟ้อพุ่ง สินค้าแพง การค้าระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ ชะงัก ไทยหนีไม่พ้นรับผลกระทบด้วย
นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), ธนาคารโลก, สถาบัน Keil ของเยอรมนี ฯลฯ กังวลว่า ผลจากมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯและพันธมิตรชาติตะวันตก มีต่อรัสเซีย จะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทั้งทางตรง และทางอ้อมได้
โดยผลกระทบจากการคว่ำบาตรในขณะนี้ เช่น การค้าระหว่างประเทศ ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 กำลังจะได้รับผลกระทบอีกครั้ง, ปัญหาห่วงโซ่การผลิตสินค้ารุนแรงมากขึ้น เพราะเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟจีน-ยุโรปที่ผ่านรัสเซียและได้รับความนิยมมากในปีที่ผ่านมา และท่าเรือสำคัญ กำลังถูกยกเลิกจากลูกค้าในยุโรป อีกทั้งเรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกสินค้าหลายร้อยลำถูกเปลี่ยนเส้นทางจากท่าเรือรัสเซียและยูเครนในทะเลดำ ทำให้มีเรือติดค้างที่ท่าเรือและกลางทะเลจำนวนมาก ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน การค้าหยุดชะงัก ราคาสินค้าพุ่ง และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก โดยนักวิเคราะห์มองว่า การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการทั่วโลก จะไม่กลับไปเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และหลายสินค้า ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะรัสเซีย และยูเครน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสำคัญ โดยข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ราคาข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 31%, ราคาน้ำมันคาโนลา และน้ำมันดอกทานตะวันพุ่งขึ้นมากกว่า 60% และราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนผลักดันต้นทุนปุ๋ยให้สูงขึ้น
“นักวิเคราะห์หลายค่ายมองว่า การคว่ำบาตรของตะวันตกต่อมอสโก จะทำให้ราคาอาหารโลกพุ่งขึ้นไปอีก เพราะรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารและปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจนอาจจ่ายไม่ไหว และเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ชั้นนำ ได้แก่ ธัญพืช น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โลหะ แร่ธาตุ แร่หายาก ไม้ และพลาสติก ซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบให้ทั่วโลกใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่ผู้ผลิตเหล็กไปจนถึงรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์”
นอกจากนี้ โลกยังต้องเผชิญกับผลจากมาตรการโต้กลับของรัสเซีย ที่ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้สั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคม การแพทย์ รถยนต์ การเกษตร ไฟฟ้า และเทคโนโลยี รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น รถไฟ ตู้คอนเทนเนอร์ กังหันลม จนถึงสิ้นปี 65 รวมกว่า 200 รายการ และหากรัสเซียตัดการจ่ายน้ำมันและก๊าซไปยังยุโรป ราคาพลังงานก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจของยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
นายกิตตินันท์ กล่าวว่า ทั้งนี้ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่จะเกิดขึ้นกับไทย เช่น ราคาพลังงาน และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น การขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต และราคาสินค้าแพงขึ้น ปัญหาในการส่งออกสินค้าไปรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการชำระค่าสินค้าในรูปเงินสกุลหลัก อย่างดอลลาร์ ปัญหาการขนส่งที่สายการเดินเรือ และสายการบินไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และการถูกบังคับจากประเทศตะวันตก ไม่ให้ประเทศทั่วไปทำการค้ากับรัสเซีย ดังนั้น แนะนำให้ผู้ส่งออกไทยชะลอทำการค้ากับรัสเซีย เพื่อป้องกันความเสี่ยง และรอดูสถานการณ์จนกว่าปัจจัยต่างๆ จะมีความชัดเจน และสร้างความมั่นใจได้มากกว่านี้