ปรากฏการณ์‘จัดสรรจิ๋ว’กองทัพมดที่ไม่มด!
2 ปีที่ผ่านมาปรากฏการณ์ “จัดสรรจิ๋ว” หรือกองทัพหมด ที่เกิดขึ้นจากการผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กที่พัฒนาที่ดินแบ่งขายที่ไม่เกิน 10 แปลงต่อ 1 โครงการ เพื่อที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินออกมาเป็นจำนวนมาก
ยกตัวอย่างใน จ.พิษณุโลก "มงคล เหลี่ยมวัฒนกุล" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดพิษณุโลก ได้เปิดเผยข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการจัดสรรลดลงมากเมื่อเทียบกับไม่จัดสรร หากดูยอดโอนในส่วนไม่จัดสรรไม่เกิน 2 ล้านบาท มีจำนวนถึง 2,544 ยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วน 78% ของยอดโอนทั้งหมด เมื่อเทียบกับจัดสรรมีจำนวนแค่ 38 ยูนิต คิดเป็น 1% ของยอดโอนทั้งหมด ต่างกันเยอะมาก!
เช่นเดียวกับหลายๆ จังหวัด ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าซัพพลายที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากยังมี “ดีมานด์” ของกลุ่มลูกค้าที่อยากได้บ้านแต่ไม่ต้องการจ่ายค่าส่วนกลาง เพราะมองว่าเป็น “ภาระ” ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกับค่าครองชีพทำให้โครงการที่ไม่ได้จัดสรรยังคงมีดีมานด์อยู่ต่อเนื่อง
ขณะที่ เปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดระยอง มองว่ากลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกัน เพราะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านจัดสรรจะเป็นกลุ่มคนที่คำนึงเรื่องความปลอดภัย เพื่อนบ้าน สังคมรอบข้าง ในส่วนโครงการที่ไม่จัดสรรจะไม่มีสิ่งเหล่านี้สามารถทำราคาต้นราคาได้ต่ำกว่า แต่ลูกค้าที่ซื้อก็ต้องทำใจ เพราะอาจไม่มีบริการหลังการขายเรียกว่าต้องวัดดวงกัน!!
ในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่ได้ทำจัดสรร ไม่ใช่ว่าจะไม่เสี่ยง เพราะหากจับได้ต้องจ่ายค่าปรับแพง ที่สำคัญ “ต้นทุน” การเลี่ยงจัดสรรแพงกว่าเข้าจัดสรร เพราะต้องเสียค่าใช้ในการหลบเลี่ยง
อย่างไรก็ตาม ในมุมของ มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ต้นตอของปัญหาคือ “ผังเมือง” ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนทำให้เกิดการเสี่ยงจัดสรรในการทำที่อยู่อาศัย เพราะกฎหมายไม่เปิดทางไว้ทำให้เกิดการเลี่ยงจัดสรร เนื่องจากมีดีมานด์ในพื้นที่นั้นๆ อยู่
หากหน่วยงานภาครัฐเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำผังเมือง ทำให้ปัญหาจัดสรรจิ๋ว หรือกองทัพหมดลดลง ที่สำคัญคนซื้อบ้านจะได้บ้านที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้นด้วย