‘คงกระพัน’ ชูวิชั่นยั่งยืนทุกมิติ เปิดแผน ปตท. ปี 68 ต่อยอดพลังงานสะอาด - ไม่เน้นกำไรระยะสั้น
“คงกระพัน” ชูวิชั่นปี 2568 ดัน ปตท.ยืนในทุกมิติ ต่อยอดธุรกิจที่มีโอกาส ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ตัดใจเลิกธุรกิจที่ไม่ perform มั่นใจก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นพลังงานสำคัญ เน้นทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด พร้อมเดินหน้าธุรกิจกักเก็บคาร์บอน - ไฮโดรเจน เร่งเครื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม
ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ได้ขับเคลื่อน ปตท.ด้วยวิสัยทัศน์ “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD”
กลุ่ม ปตท.ได้พลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง จากการบริหารงาน 7 เดือนของ CEO ปตท.ที่มีการตั้งเป้าหมายการทำงานทั้งกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของความยั่งยืนอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ทั้งนี้ ปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาลตาม Vision ปี 2568 สู่เป้าหมายเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน
นายคงกระพัน ได้ให้แนวคิดการบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย "บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ” ดังนั้น การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจจึงต้องมีกำไร ซึ่งจะต้องเป็นกำไรที่เหมาะสม และยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น รวมถึงธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย ผู้ประกอบการ SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
ส่วนการลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กร และประเทศ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ปตท. จะต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องเร่งต่อยอดขยายผล แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาด และรวดเร็ว
นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน การทำธุรกิจ และการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญมากๆ คือ “บุคลากร” ซึ่ง ปตท.มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือร่วมใจพาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย สร้างโอกาสที่ดียิ่งขึ้นเพื่อส่งต่อให้ "ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม จากภารกิจ ปตท.ยังคงมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน บริหารต้นทุนราคาที่เป็นธรรมดานโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้าในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรับกับเมกะเทรนด์โลก
“คงกระพัน” เปิดวิชั่น 2568
นายคงกระพัน กล่าวว่า Vision for Opportunity 2025 ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Direction and Strategy) โดยจะเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ.2593
ดังนั้น ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาด้วยการนำนวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยมีความมั่นคงยิ่งขึ้นไป รองรับการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ
“ปตท.ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานคนไทย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น สิ่งสำคัญจะต้องสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะประเทศไทยยังต้องสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ราบรื่นจะต้องบาลานซ์ทั้ง 3 องคาพยพ”
จากการที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีจำนวนประชากรเกือบ 700 ล้านคน ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โดยผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของอาเซียนมีขนาดใหญ่ถึง 6% ของโลก สามารถดึงดูดการลงทุนได้ดีเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโลกต้องมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด
ชี้ก๊าซยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ดังนั้น เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ยังคงเป็นพลังงานที่สำคัญ ส่วนถ่านหิน และน้ำมันจะต้องค่อยๆ ลดปริมาณลงเพราะมีการปล่อยคาร์บอนสูงกว่าก๊าซฯ
อีกทั้ง แหล่งก๊าซฯ ที่มีมูลค่ามหาศาลที่สำคัญล้วนมีจำนวนมากในบริเวณอ่าวไทย ดังนั้น กลุ่มอาเซียน ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา ต่างล้วนได้รับประโยชน์ในสินทรัพย์ใต้ท้องทะเลนี้
นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนในอนาคตที่จะมีมากขึ้นทั้งโซลาร์ ลม และน้ำ ยังคงต้องใช้เวลา โดยประเทศในอาเซียน ยังคงพึ่งพาก๊าซฯ ซึ่งในเอเชียแปซิฟิกยังเป็นแหล่งที่การผลิตยังต่ำกว่าความต้องการ จึงต้องนำเข้าก๊าซฯ ปริมาณมาก ทั้งๆ ที่ในอ่าวไทยยังมีใช้เพราะเป็นพลังงานที่ใช้ได้สะดวก โดยประเทศไทยพึ่งพาก๊าซฯ ในอ่าวไทย 50% และนำเข้า LNG และก๊าซฯ ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยอีก 50%
“รัฐบาลได้พยายามผลักดันเจรจาการนำทรัพยากรจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา หรือ OCA (Overlapping Claims Area) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจา และใช้มาแล้วกับมาเลเซีย ซึ่งตอนร่วมผลิตไม่สามารถตกลงในเรื่องเขตแดน จึงใช้วิธีร่วมใช้ทรัพยากรมาพัฒนาสร้างเศรษฐกิจความเจริญให้ประเทศได้”
เดินหน้ากักเก็บคาร์บอน-ไฮโดรเจน
ทั้งนี้ จากการนำก๊าซฯ มาผลิตไฟฟ้าจะถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุดตัวหนึ่งแต่ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอยู่ จึงต้องทำในเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน กลุ่ม ปตท. จะดำเนินควบคู่ใน 2 วิธี คือ การพัฒนาโครงการ การดักจับ และการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า เป็นต้น
“เทคโนโลยี CCS เป็นการเอาคาร์บอนในอากาศมาเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวเพื่อเก็บไว้ใต้ดินหรือใต้ทะเลจะช่วยลดโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยี CCS มานานแล้ว ส่วนไฮโดรเจนทั่วโลกตื่นตัวมากระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนามาใช้มากมายประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงใน 2 เรื่องนี้ไม่ได้หากจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065"
การที่ประเทศไทยต้องนำเข้าทั้งก๊าซฯ 50% และน้ำมันกว่า 90% และด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ปตท. จึงมีวิชั่น “แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” อีกทั้ง ปตท.เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องสร้างความแข็งแรง และผลกำไร สร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ยึดกลยุทธ์ทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด
ทั้งนี้ จากการเติบโตของ ปตท.จะทำในสิ่งที่ตนเองถนัดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน C3 คือ
1. ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business 2. ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business 3. การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All
“เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจจึงต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน โดยการยกระดับ Operation & Efficiency ด้วยการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาประยุกต์ใช้"
อีกทั้งต้องทำ Lean Organization ร่วมกับ Digital Transformation ซึ่งต้องเริ่มในวันที่องค์กรยังแข็งแรง เพื่อให้เกิดการยอมรับในทุกระดับ และต้องสร้างความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรมองค์กร (Culture) สร้างความตระหนัก ปลูกฝังให้พนักงานกล้าที่จะปรับ และพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท.ต้องปรับตัว มีความคล่องตัว และมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์