'ไฮโดรเจน-นิวเคลียร์' โซลูชั่น เปลี่ยนผ่าน 'พลังงานสะอาด'
พลังงานคาดแผนพลังงานชาติ 2024 เข้าครม. หวังประกาศใช้ทันปี 67 ชี้“ไฮโดรเจน-นิวเคลียร์”เทคโนโลยีแห่งอนาตคต “ปตท.-กฟผ.” เฟ้นเทคโนโลยีทั่โลกหนุนขานรับนโยบายรัฐร่วมมุ่ง Net Zero
ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) และแผนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเริ่มมีการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าในปี 2030 และช่วยหนุนให้มูลค่าไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 8 หมื่นล้านบาทในปี 2050
สำหรับแผน PDP ฉบับใหม่นี้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นอยู่ที่ 51% ส่วนใหญ่เป็นโซลาร์, ก๊าซธรรมชาติ 40% และไฮโดรเจน 5% ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะรวมอยู่ในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และในปลายแผนฯ จะมีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ เข้ามาเป็นทางเลือก
“มั่นคง-ราคา”โจทย์ท้าทายด้านพลังงาน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. จะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนเปลี่ยนผ่านจากก๊าซธรรมชาติที่สะอาดที่สุดให้เป็นเชื้อเพลิงตัวหลักก่อน ทั้งนี้ โจทย์ที่ท้าทายคือ ความมั่นคง และราคา ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกแต่ยังไม่เสถียร จึงเป็นโจทย์หลักที่ยากและท้าทายพอสมควรว่าประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนได้ระดับไหน ดังนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยโดยเฉพาะระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี
ในอนาคตแบตเตอรีจะต้องเข้ามาเมื่อราคาถูกลง ซึ่งตอนนี้ยังมีราคาแพง ส่วนไฮโดรเจนจะมีบทบาทมากขึ้นทั้งราคาและความเชื่อมั่น โดยต่างประเทศอาจเห็นความชัดเจนของพลังงานทดแทน ความเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยทั้ง ไฮโดรเจน, CCS (Carbon Capture and Storage หรือการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดอ็อกไซด์) และ CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน) ซึ่งจะเป็นพระเอก
“บางจาก”ลุยศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนา AI ( Artificial Intelligence : ปัญญาประดิษฐ์) เพื่อช่วยในการทำงานต้องแลกมาด้วยพลังงานมหาศาล ส่งผลต่อทรัพยากรโลก เช่น น้ำและพลังงาน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้าซึ่งใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก Small Modular Reactors : SMR ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
นอกจากนี้ จากการประมวล AI และใช้พลังงานรวมกัน 300-1,000 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตคาดการณ์ว่าจะพุ่งไปถึง 5กิกะวัตต์ เทียบเท่ากับพลังงานที่โรงงานน้ำมันบางจาก 100 โรงงาน ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ โลกจะต้องหาแหล่งพลังงานอะไรมารองรับปริมาณใช้งาน AI และในตอนนี้ทั่วโลกก็ต่างกำลังหันกลับไปมองพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งไทยควรศึกษาเช่นเดียวกัน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อท้ายที่สุดแล้วการใช้ดาต้าในปริมาณที่สูง ซึ่งทุกประเทศขณะนี้จะพบกับปัญหาเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า แม้แต่สหรัฐต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีความเสถียรมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาพลังงานนิวเคลียร์จะมีปัญหาแต่ก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้น กลุ่มบางจากฯ โดย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG อยู่ระหว่างศึกษาคมามเป็นไปได้ของธุรกิจเช่นกัน
ปตท.เพิ่มสัดส่วนลงทุนไฮโดรเจน
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และผลักดันโครงการ CCS โดยในร่างแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจน 5% นำไปผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สำหรับผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ เนื่องจากไฮโดรเจนถือเป็นพลังงานสะอาด ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065 และเทคโนโลยี CCS ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคตด้วย
“ปตท.ได้เข้าไปลงทุนในแหล่งไฮโดรเจนต่างประเทศเพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยี เช่น ในแหล่งตะวันออกกลาง หากเริ่มมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็พร้อมขยายการลงทุนเพิ่ม ประกอบกับถ้ารัฐบาลไทยเริ่มส่งเสริมให้นำไฮโดรเจนมาผสมรวมในท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเช่นกัน รวมถึงจะขยายการใช้ไฮโดรเจนไปสู่ธุรกิจโมบิลิตี้ (Mobility) ด้วย”
กฟผ.เชื่อนิวเคลียร์SMRมั่นคงสูง
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี และติดตามเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐ รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไทย
ปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573
ไฮโดรเจนโซลูชั่นพลังงาน
นายอากิระ ทาคาฮาชิ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ (ประเทศไทย) และบริษัท เอ็มเอชไอ พาวเวอร์ โปรเจกต์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า พลังงานไฮโดรเจนสะอาดเป็นโซลูชันที่ยั่งยืน ที่ยังสามารถผลิตพลังงานไฮโดรเจนสะอาดได้จากไฟฟ้าเกินที่ผลิตจากแหล่งพลังงานที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้เป็นเทคโนโลยีเสริมที่สนับสนุนเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าและการบูรณาการพลังงานหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม ไฮโดรเจนมีต้นทุนการเริ่มต้นที่สูงคาดว่าต้องลงทุนครั้งใหญ่จากภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนการใช้เชื้อเพลิงนี้ในช่วง 10 ปี ก่อนที่จะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2040
ปัจจุบัน มิตซูบิชิ พาวเวอร์ กำลังดำเนินการสำรวจศักยภาพของพลังงานไฮโดรเจนสะอาดอย่างจริงจัง ด้วยการร่วมมือกับ New Energies Company ในเครือบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชัน (สหรัฐ) พัฒนาโรงงานผลิตและจัดเก็บพลังงานไฮโดรเจนสะอาดในระดับอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค