กฟผ.ถอดบทเรียนโรงไฟฟ้า 'นิวเคลียร์' จีน ตอบโจทย์ความมั่นคง-ไร้คาร์บอน

กฟผ.ถอดบทเรียนโรงไฟฟ้า 'นิวเคลียร์' จีน ตอบโจทย์ความมั่นคง-ไร้คาร์บอน

กฟผ. ถอดบทเรียนแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของไทยให้ยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality เตรียมศึกษาพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ตอบโจทย์ความมั่นคง ไร้คาร์บอน มีต้นทุนแข่งขันได้ ควบคู่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 

KEY

POINTS

  • มณฑลไห่หนานตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 พลังงานที่ใช้ในมณฑลไห่หนาน 50% ต้องมาจากพลังงานสะอาด สู่การเป็นเกาะพลังงานสะอาด ภายในปี 2573
  • มณฑลไห่หนานมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15%
  • โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีทั้งขนาดใหญ่ที่เดินเครื่องแล้วและขนาดเล็ก SMR มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ 
  • โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยนายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และนายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดและเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ระหว่างวันที่ 3 – 8 พฤศจิกายน 2567 ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า มณฑลไห่หนานหรือเกาะไหหลำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่รัฐบาลกลางจีนตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 พลังงานที่ใช้ในมณฑลไห่หนาน 50% ต้องมาจากพลังงานสะอาด สู่การเป็นเกาะพลังงานสะอาด (Clean Energy Island: CEI) ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15%

โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดดของมณฑลไห่หนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีทั้งขนาดใหญ่ที่เดินเครื่องแล้วและขนาดเล็ก (SMR : Small Modular Reactor) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยโรงไฟฟ้า SMR ที่เข้าชมในครั้งนี้มีชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน

ซึ่งมีขนาดเล็กสูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า

ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 จะมีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่เท่านั้น 

โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง

สำหรับประเทศไทยอยู่ในสถานะรอความชัดเจน จากแผน PDP2024 ทั้งนี้ กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี และติดตามเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย 

นอกจากนี้ มณฑลไห่หนานยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai กำลังผลิตสูงถึง 400 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 200 เมกะวัตต์–ชั่วโมง ซึ่งพัฒนาบนพื้นที่นาเกลือที่เลิกใช้ประโยชน์แล้ว และพื้นที่ชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่ติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อน

จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่่ดิน สามารถใช้อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. จำนวน 2,656 เมกะวัตต์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2573 โดยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ 3 ของ กฟผ. และอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี 

ด้านการพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มณฑลไห่หนานได้พัฒนาสถานีไฮโดรเจนไห่โข่ว สำหรับผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) แยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจนสามารถเติมให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ สำหรับประเทศไทย กฟผ. มีโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา

สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2559

ปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573 นอกจากนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม โดยมีเป้าหมายทดสอบภายในปี 2573 

นอกจากนี้มณฑลไห่หนานยังได้จัดตั้ง Hainan Energy Data Center เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน สำหรับกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาพลังงานรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อาทิ ข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้อมูลสมดุลการผลิตและใช้พลังงานของมณฑลไห่หนาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานที่ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้

ในขณะที่ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน อาทิ จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast Center) โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผลพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้า

เพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีทั้งรูปแบบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าระยะสั้น (Day-ahead Forecast) แบบล่วงหน้า 10 วัน เพื่อใช้สำหรับวางแผนการผลิตไฟฟ้าระยะสั้น-กลาง และการพยากรณ์ภายในวัน (Intraday Forecast) ทุก 1 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันเพื่อใช้สำหรับการวางแผนควบคุมระบบไฟฟ้าแบบเรียลไทม์

รวมถึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

 “กฟผ. มุ่งมั่นเดินหน้าศึกษาพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ แสวงหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย พร้อมออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หวังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”