กฟผ.แบกค่าเอฟที 8 หมื่นล้านบาท ศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ สร้างความมั่นคง ปท.

กฟผ.แบกค่าเอฟที 8 หมื่นล้านบาท ศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ สร้างความมั่นคง ปท.

กฟผ.รับภาระค่า Ft ค้าง 8 หมื่นล้านบาท ลุยศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ ตอบโจทย์ความมั่นคงพลังงาน ย้ำต้นทุนแข่งขันได้ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ผสานหน่วยงานสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า SMR แก่ประชาชน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ทั่วโลกต่างมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด ซึ่งการจะทำให้จ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้นทุนจะค่อนข้างสูง 

กฟผ. จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ โดยออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน ลดความซับซ้อนของระบบทำให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า 

อีกทั้ งแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงที่มีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ปริมาณน้อยแต่ให้พลังงานความร้อนมหาศาล ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 24 เดือน จึงจะหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงบางส่วน นอกจากนี้การออกแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นทำให้พื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น

สำหรับรับโรงไฟฟ้า Linglong One  ในมณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นโรงไฟฟ้า SMR บนพื้นดินเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก ซึ่ง กฟผ. มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจ และต้องเร่งศึกษา รวมถึงเทคโนโลยี SMR ของประเทศอื่นๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก ต้องนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดดีที่สุด และเหมาะสมกับประเทศไทย 

ควบคู่กับการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการทำงาน และข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR และเกิดการยอมรับ ด้าน กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปีแล้ว

ส่วนการประเมินเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR คาดว่าจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมประมาณ 2 - 3 เท่า แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR มีอายุการใช้งาน 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก ดังนั้นหากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของโรงไฟฟ้าก็ถือว่าใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และในอนาคตมูลค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ก็จะถูกลงอีก ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาที่แข่งขันได้มากยิ่งขึ้น

 

"ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ตอบโจทย์ความมั่นคง ไฟฟ้าสีเขียว และมีราคาแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีความขัดแย้ง และอาจเกิดภาวะสงครามในหลายพื้นที่ของโลกในระยะต่อไป ซึ่งอาจจะกระทบต้นทุนของราคาพลังงาน นายเทพรัตน์ กล่าวว่า เหตุจากความผันผวนของราคาพลังงานที่เกิดขึ้น เราจึงจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย และหาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มขึ้น เพราะจะผูกกับก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวคงยาก ดูตัวอย่างอย่างบทเรียนในปี 2565 ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติแพง เราก็เพิ่มการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น  หรือบางช่วงก็ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล

ขณะเดียวกัน แผนของการปรับเพิ่มเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทน กฟผ.อยู่ในระหว่างการบริหารจัดพยายามเพิ่มสัดส่วนขึ้น โดยขณะนี้มีพลังงานหมุนเวียนทั้งสิ้นประมาณ 19% ในขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับล่าสุด ต้องการให้เพิ่มพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 51% เนื่องจากทั่วโลกต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามเป้าหมาย และต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือไฟสีเขียว อย่างกรณีการเข้ามาลงทุน Data Center หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้ไฟฟ้ามากๆ จะต้องการไฟสีเขียวจากประเทศที่เข้ามาลงทุน หรือบางแห่งก็จะลงทุน SMR ควบคู่ไปด้วย 

สำหรับ พลังงานไฮโดรเจนนั้น กฟผ.มองว่า จะเป็นพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิล ไปยังพลังงานสะอาด เพราะสามารถนำไฮโดรเจนมาให้ในการสร้างไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ภายใต้โรงไฟฟ้าเดิมที่เรามีอยู่ ไม่ต้องปรับเปลี่ยนมากนัก ดังนั้น แผนของการใช้ไฮโดรเจน กฟผ.ก็ไม่ทิ้ง ซึ่งในการมาจีนครั้งนี้ก็จะได้ไปดูงานการผลิต และเก็บไฮโดรเจนด้วย ซึ่งในแผนพีดีพี ต้องการเพิ่มสัดส่วนไฮโดรเจนเป็น 5% และจะเพิ่มเป็น 10-20% ไปจนถึง 100% และปรับตัวเชื้อเพลิงที่จะนำใช้ผลิตไฮโดรเจน จากสีเทา เป็นสีเขียว และสีฟ้า เพื่อให้ได้ไฮโดรเจนจากพลังงานสะอาดมากขึ้น 

ขณะที่การบริหารต้นทุนเพื่อดูแลการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟทีนั้น ในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.เคยรับภาระค่าเอฟทีสูงสุดที่ 150,000 ล้านบาท แต่ในขณะนี้ได้ทยอยได้คืนมาบ้างเหลืออยู่ที่ประมาณ 80,000 กว่าล้านบาท ซึ่งทำให้ภาระหนี้ที่ กฟผ. กู้มาเพื่อเสริมสภาพคล่อง 110,000 ล้านบาท ลดลงเหลือประมาณ  70,000 ล้านบาท ซึ่งในปีหน้า กฟผ.ก็จะพยายามรักษา และบริหารจัดการสภาพคล่องให้เพียงพอ เพราะ กฟผ.เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องช่วยประชาชนในการดูแลค่าไฟฟ้า ค่าเอฟทีไม่ให้กระทบมากเกินไป โดยเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์