สแกนหุ้นรับอานิสงส์ “9 มาตรการ” ลดค่าครองชีพ
สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังไม่ทันจะซา ก็มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนปะทุขึ้นมาอีก กลายเป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” สั่นสะเทือนไปทั้งโลก ต่อเนื่องมาถึงประเทศไทยของเรา
ข้าวของต่างๆ ทั้งของกินของใช้พาเหรดปรับตัวเพิ่มขึ้นถ้วนหน้าตามราคาน้ำมันดิบ จนรัฐบาลต้องประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อผลกระทบของประชาชน
ขณะที่เดือนเม.ย. นี้ “ก๊าซหุงต้ม” จ่อขึ้นราคาอีก 15 บาท จาก 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม และจะปรับขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ไตรมาสที่เหลือของปี
ส่วน “ค่าไฟ” งวดเดือนพ.ค.-ส.ค. จะเพิ่มเป็นยูนิตละ 4 บาท ถือเป็นอัตราค่าไฟที่แพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เกษตรกรซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติต้องแบกรับภาระต้นทุน ค่าปุ๋ย ค่าอาหารสัตว์ที่พุ่งขึ้นหลายตัว
ถือว่าตอนนี้คนไทยทั้งประเทศเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงเต็มรูปแบบ เงินเฟ้อพุ่งกระฉูด ขณะที่เงินในกระเป๋าประชาชนร่อยหรอ สวนทางรายจ่ายที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น กลายเป็นวิกฤตที่ภาครัฐต้องงัดสารพัดมาตรการออกมากอบกู้สถานการณ์
จนเป็นที่มาของ 9 มาตรการใหม่ที่ ครม. ไฟเขียวไปเมื่อต้นสัปดาห์ หวังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ภายใต้วงเงินงบประมาณรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท ที่จะช่วยคนไทยกว่า 40 ล้านบาท ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. นี้
ประกอบด้วย 1. การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน จาก 45 บาท เป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน 2. ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
3. การช่วยเหลือค่าน้ำมัน 250 บาทให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน 4.คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม 5. ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม
6. ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย ระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค. 7. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1%
8. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และ 9. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
โดยบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มาตรการที่ออกมาเน้นช่วยเหลือคนรากหญ้าเป็นหลัก โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ 1. บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP สืบเนื่องจากค่าครองชีพที่ลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอัพไซด์ต่อกำไรปี 2565 ที่ 1%
2. กลุ่มไฟแนนซ์ จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่ทำให้ประชาชนมีเงินสำหรับการใช้จ่ายและจ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสเป็นหนี้เสีย (NPL) น้อยลง และการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ประเมินว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจะเป็นผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ และจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ จากมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์รับจ้าง และรองลงมาจะเป็นผู้ประกอบการสินเชื่อจำนำทะเบียน จากมาตรการลดเงินประกันสังคม
โดยเรียงลำดับบริษัทที่ได้ผลประโยชน์จากมากไปน้อย ได้แก่ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK, บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ S11, บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP, บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLORและบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD
และ 3. บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME และ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ที่จะได้รับอานิสงส์หลังรัฐบาลสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุด เน้นไปที่การใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพเกษตรกรลงได้บางส่วน ทำให้มีเงินเหลือเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้าเกษตรกรรมก่อนเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก
ด้านบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ชุดมาตรการใหม่ที่ออกมาเป็น Slightly Positive ในระยะสั้น โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ กลุ่มค้าปลีกจากกำลังซื้อที่จะสูงขึ้น และกลุ่มไฟแนนซ์ที่เน้นลูกค้าฐานราก เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงด้านหนี้เสีย (NPL) แนะสะสม บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ส่วนกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น กลุ่มปั๊มน้ำมัน