ไทยส่งออกไก่ “ซาอุฯ” ตู้แรก “ซีพีเอฟ” ลุยขยายตลาดกุ้ง-ไข่
![ไทยส่งออกไก่ “ซาอุฯ” ตู้แรก “ซีพีเอฟ” ลุยขยายตลาดกุ้ง-ไข่](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2022/03/mO0bJX05cBQxbWoAHRio.webp?x-image-process=style/LG)
ไทยและซาอุดิอาระเบียได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ ซึ่งนำมาสู่การยกระดับความร่วมมือหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน แรงงาน ไก่คือสินค้าแรก ผ่านการรับรองแล้ว 11 โรงงาน โดยองค์การอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (SFDA) ได้ออกประกาศผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2565
ความร่วมมือดังกล่าวนำมาสู่การส่งออกไก่แปรรูป “ตู้ปฐมฤกษ์” เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 โดยมี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นประธานที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ (มีนบุรี 2)
“ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ ของการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะไก่ที่เป็นสินค้าเป้าหมายที่มีความสำคัญหลังจากที่ไทยขาดโอกาสไปตลอด 18 ปีที่ผ่านมา”
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โรงงานของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สามารถส่งออกไก่แปรรูปได้เป็นเที่ยวแรก ซึ่งที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เนื่องจากมีการนำเข้าไก่ถึงปีละ 6.5 แสนตัน โดยนำเข้าจากบราซิลสัดส่วน 75% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส 25% รวมทั้งจากนี้ไปไก่จากไทยจะเป็นตลาดสำคัญที่ซาอุดิอาระเบียได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ปี 2564 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลก 9 แสนตัน นำเงินเข้าประเทศ 1 แสนล้านบาท และปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 9.8 แสนตัน โดยการส่งออกไก่ไปซาอุดิอาระเบียเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและเพิ่มตัวเลขการส่งออกไก่ไทย และตั้งเป้าหมายปีแรกจะทำได้ถึง 6 หมื่นตัน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนงานสำคัญที่จะประสานซาอุดิอาระเบียนำคณะเดินทางไปพร้อมกับเอกชน เพื่อโรดโชว์สินค้าอื่นเพื่อผลักดันให้การส่งออกสูงขึ้น
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงานว่า ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน และมีสัดส่วนการนำเข้าอาหารสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council) และปัจจุบันซาอุดิอาระเบียนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 6.5 แสนตัน โดย 70% เป็นการนำเข้าไก่สดทั้งตัวและ 30% เป็นการนำเข้าไก่ชำแหละและไก่แปรรูป ผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่ 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือทั้งประเทศที่ 1.5 ล้านตันต่อปี
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า โรงงานซีพีเอฟได้รับการรับรองจากซาอุดิอาระเบีย 5 โรงงาน โดยการส่งออกไก่ล็อตแรกเป็นไก่แปรรูป 5 ตู้ ปริมาณ 100 ตัน ภายในเดือน มี.ค.นี้ ซีพีเอฟ จะส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ผ่านผู้นำเข้ารายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย 600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 47 ล้านบาท
รวมทั้งใน ปี 2565 ซีพีเอฟจะส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ได้ 300 ตู้ รวม 6,000 ตัน มูลค่าการส่งออก 473 ล้านบาท และคาดว่าอีก 5 ปี ข้างหน้า จะขยายการส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปไปซาอุดิอาระเบียได้ 3,000 ตู้ รวม 60,000 ตัน ทำรายได้เข้าประเทศ 4,200 ล้านบาท
“ก่อนหน้า ปี 2547 ซีพีเอฟส่งออกไปซาอุดิอาระเบียอยู่แล้ว และที่มีการประกาศระงับการส่งออกนั้น ซีพีเอฟ เจรจากับคู่ค้าและส่งผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรต แทนเพื่อรักษาคู่ค้าเอาไว้ ปัจจุบันเมื่อซาอุดิอาระเบียเปิดตลาดให้อีกครั้ง จึงเหมือนซีพีเอฟได้ตลาดดับเบิ้ลขึ้น“
สำหรับตลาดซาอุดิอาระเบีย มีลักษณะคล้ายตลาดญี่ปุ่น คือ นำเข้าทั้งไก่แปรรูป ไก่สดและไก่ทั้งตัว แต่ซีพีเอฟเน้นที่ไก่แปรรูปเพราะไก่สดและไก่ทั้งตัวไม่สามารถแข่งขันกับบราซิลที่มีต้นทุนถูกกว่าได้ โดยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ซาอุดิอาระเบียมีปัญหานำเข้าไก่จากยูเครน จึงเป็นอานิสงส์ที่ไก่ไทยจะเข้าไปทดแทนได้
นอกจากนี้ซีพีเอฟยังมีเป้าหมายจะส่งสินค้าอื่นในอนาคต เช่น กุ้ง ไข่ไก่ โดยไข่จะส่งออกจากตุรกี เพราะผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียนิยมไข่ไก่เปลือกขาว
ทั้งนี้ ปี 2565 ถือว่าเป็นที่ผิดปกติ สถานการณ์ทุกด้านผลักดันให้ความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกสินค้าอาหาร โดยเฉพาะไก่เนื้อได้ตามเป้า 9.8 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกิน 10% แน่นอน ซึ่งในจำนวนนี้ ซีพีเอฟ มีสัดส่วน 25-26% หรือประมาณ 2 แสนตัน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท และมีตลาดใหญ่ คือ อังกฤษ รองลงมาเป็นญี่ปุ่นและเยอรมัน
อย่างไรก็ตามการส่งออกต้องระวังเรื่องราคา เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ 20% ค่าระวางเรือที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในเดือน เม.ย.นี้ อีก 20% การระบาดของโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวัง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้นถือว่าทุกธุรกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบเท่ากับหมด ซึ่งสินค้าแบรนด์ ซีพีเอฟ มีการปรับราคาขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละตลาด ประมาณ 10% ในขณะที่สินค้ารับจ้างผลิต หรือ OEM ต้องเจรจาเป็นแต่ละราย รวมถึงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผล เพราะซีพีเอฟทำธุรกิจทั้งการนำเข้าและส่งออกจึงสามารถสร้างการสมดุลได้ แต่ต้องระวังความผันผวนที่จะทำให้วางแผนการค้าได้ยาก
“ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบสถานการณ์กับ สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐและเอเชีย จะพบว่าต้นทุนการผลิตฝั่งเอเชียยังถูกกว่า จากค่าแรงที่ยังไม่ปรับเพิ่ม ขณะที่สหรัฐเพิ่มขึ้นกว่า100 % ดังนั้นปีนี้การส่งออกสินค้าจากเอเชียยังได้เปรียบ“
สำหรับผลกระทบจากสงครามนั้น ซีพีเอฟไม่มีการลงทุนในยูเครน จึงไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนการลงทุนในรัสเซียก็ผลิตและจำหน่ายในประเทศ โดยการที่ซีพีเอฟลงทุนในหลายประเทศทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี
รวมทั้งในปี 2565 คาดว่าจะทำรายได้ 5.2 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 8-10% ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในต่างประเทศ ในจำนวนนี้ 50% ยังเป็นรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ ส่วนอีก 30% มาจากธุรกิจฟาร์ม และ 20 % มาจากธุรกิจอาหาร เป้าหมายในระยะต่อไป จะเพิ่มสัตว์ส่วนในธุรกิจอาหารเป็น 30 % แต่คาดว่าจะใช้เวลาเกิน 5 ปีขึ้นไป เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างยาก แต่ถ้าได้รับการยอมรับไปแล้วจะมีเสถียรภาพมาก
ส่วนการลงทุนปีนี้มีวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยน ซ่อมบำรุงเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานต่างๆ ที่มีอยู่ โดยยังไม่มีแผนสร้างโรงงานใหม่ รวมทั้งการเข้าซื้อธุรกิจ