นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ กนง.เจอโจทย์หิน ชี้ทางดอกเบี้ย ท่ามกลางเงินเฟ้อพุ่ง
นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย 0.50% สวนทางดอกเบี้ยโลก หลังมอง กนง.ให้ความสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเป็นอันดับหนึ่ง
ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ ทั้งทิศทางการปรับดอกเบี้ยของโลกที่เป็นขาขึ้น ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีจุดจบ ส่งผลกระทบไปสู่ราคาพลังงานโลก สู่เงินเฟ้อให้ปรับขึ้นก้าวกระโดด อีกทั้งเรายังอยู่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมากกว่าคาด
เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยท้าทายอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจไทย และเป็น “โจทย์หิน” สำหรับผู้ดำเนินนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ให้รอบคอบ ในการประชุม กนง.รอบที่ 2 ของปี 2565 ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์ว่า การประชุม กนง.รอบนี้อาจไม่ได้ “เซอร์ไพรส์” ตลาด เพราะตลาดคาดการณ์ว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%
จากเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า อีกทั้งการระบาดของโอมิครอนก็ยังมีความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย รัสเซีย-ยูเครน ก็ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนต่อตลาดโลก ดังนั้นน่าจะเห็น กนง. ยังคงดอกเบี้ยต่อไป
แต่ที่นักลงทุน และตลาดจับตาคือ การส่งสัญญาณของ กนง.รอบนี้ เกี่ยวกับเงินเฟ้อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย และดอกเบี้ยโลกเริ่มห่างขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ กนง.จะมีท่าทีอย่างไร
ดังนั้นมองว่า วันนี้ กนง.กำลังเผชิญกับ “ทางแยก” ที่ท้าทาย ที่หากเลือกอีกทาง ก็ต้องปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ผ่านการคุมดอกเบี้ยต่ำต่อไป เพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าโตช้าสุดในอาเซียน
และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวไปสู่ระดับเดียวกันกับก่อนโควิด-19 ได้เป็นประเทศรั้งท้าย ดังนั้นหากตัดสินใจ “คงดอกเบี้ย” ก็ต้องปิดตาอีกข้าง เพราะเงินคงทะลุกรอบที่ ธปท.คาดการณ์ไว้มาก
อีกทางแยกคือ การขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การคุมเงินเฟ้อ จะทำได้บางส่วนเท่านั้น ขณะที่ผลที่ได้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทย จากแรงกดดันด้านการบริโภค และการลงทุน
ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็น “โจทย์หิน” สำหรับผู้ดำเนินนโยบายการเงิน ว่าจะเลือกทางไหน ระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ กับการดูแลด้านเสถียรภาพด้านราคา
อย่างไรก็ตาม มองว่าการดำเนินนโยบายการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับการดูแลเศรษฐกิจ และจัดการผลกระทบต่างๆ ดังนั้นอาจต้องมีเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยด้วย
สำหรับการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ มองว่า กนง. น่าจะปรับจีดีพีอยู่ในกรอบ 3% ต้น ซึ่งเป็นระดับที่สามารถยืนได้ เพราะยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง ที่จะกลับมาได้ รวมถึงส่งออกที่เติบโตได้ดี เหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับเศรษฐกิจไทย
“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดการณ์ว่า กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย และให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอันดับแรก
เพราะในทางกลับกัน หาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ก็ยังไม่ชัดเจนว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เงินเฟ้อหยุดขึ้นได้หรือไม่ เพราะปัญหาเงินเฟ้อที่ขึ้นแรง มาจากเงินเฟ้อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากราคาสินค้า และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
เหล่านี้ไม่ได้มาจากดีมานด์เพิ่มขึ้นร้อนแรง หรือการจ้างงานเติบโตดีเหมือนสหรัฐ แต่ปัญหามาจากซัพพลายไซด์ ดังนั้นยังมองไม่เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างไร
ดังนั้นมองว่า กนง.น่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าจะเห็นภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น หากเงินเฟ้อไม่ขึ้นปลายปีก็อาจเห็น กนง.กลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งได้
แต่ปัจจัยท้าทายที่ต้อง “จับตา” คือ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ย ที่เริ่ม “ถ่าง” ขึ้น ระหว่างดอกเบี้ยไทย และดอกเบี้ยสหรัฐ ที่ตลาดคาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปสู่ 2.2% ในปลายปี ดังนั้นเหล่านี้ อาจทำให้ตลาดเงินผันผวน และมีเงินไหลออก เงินบาทอ่อนค่าได้
รวมถึง กนง.ยังต้องเผชิญกับปัจจัยจากราคาน้ำมัน ที่นำเข้ามามาก และแพงขึ้น เหล่านี้อาจทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวขึ้นมาก
“เราเชื่อว่า กนง.ยังคงดอกเบี้ย เพราะอีกด้านผู้กู้ที่พึ่งได้รับการช่วยเหลือ พึ่งออกจากมาตรการ แต่หากขึ้นดอกเบี้ยอีก ผู้กู้ก็อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในมุมนโยบายการเงินมองว่า อาจทนได้หากเงินบาทอ่อนค่ากว่านี้ แต่ก็ต้องช่างน้ำหนักว่า ข้อเสียของการนำเข้าแพงขึ้น การขาดดุลที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อเศรษฐกิจไทย”
สำหรับการปรับจีดีพีรอบนี้ มองว่า กนง.น่าจะปรับจีดีพีมาอยู่ที่ระดับ 2.8 - 3.2% เหตุหลักๆ มาจากการบริโภคเอกชน ที่คาดปรับลดเหลือ 2.7% ปีนี้จากคาดที่ 4% ภายใต้หนี้ครัวเรือนสูง ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การบริโภคชะลอ และฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวลดลง
เช่นเดียวกับเงินเฟ้อ ที่มีโอกาสเห็นเกินระดับ 5% ได้ในปีนี้ หากราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูงเหนือ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่อเนื่อง
“จีดีพี ปี 2563 ติดลบ 6.1% ปีถัดมา โต1.6% หากปีนี้ 3% ก็ยังไม่กลับมาฟื้น เช่นเดียวกับการบริโภค ที่ปีก่อนโต 0.3% ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% ซึ่งเรียกว่าเป็นระดับที่แย่ ยังไม่ได้โตดี ปีก่อนโต 0.3% หากปีนี้การบริโภคโตแค่ 2.7% เรียกว่าแย่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย”
“เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า กนง.จะคงดอกเบี้ย เหมือนที่เคยส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ เพราะต้องการประคับประคองเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายสุดในการดำเนินนโยบายการเงินรอบนี้มองว่า จากการที่ดอกเบี้ยไทย และสหรัฐเริ่มห่างกันมากขึ้น แต่หากเรื่องดอกเบี้ยไม่ได้มีผลกระทบมาก ยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และเงินบาท กนง.ก็อาจยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย
ทางกลับกัน หากเงินเฟ้อยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เหล่านี้อาจสร้างแรงกดดันทางอ้อมสู่การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าได้
“เรามองว่า กนง.ยังยืนดอกเบี้ย หากไม่มีประเด็นที่กระทบต่อเสถียรภาพ แต่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปสู่ 2 - 2.25% ตามคาดการณ์ตลาด ถือระดับที่สูง หากเทียบกับไทยตอนนี้ที่ 0.50% ดังนั้นมองว่า กนง.คงจับตาใกล้ชิดในทุกรอบการประชุม ในแง่ผลกระทบว่าเป็นอย่างไร หากกระทบไม่มากก็เชื่อว่า กนง.อาจยืนดอกเบี้ยต่ำไปให้นานที่สุด”
การปรับคาดการณ์จีดีพี มองว่า กนง.น่าจะปรับลงมาไม่ต่ำกว่า 3% สอดคล้องสภาพัฒน์ที่ยังสูงเกิน 3% ภายใต้การทบทวน และพิจารณาข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตามเหตุการณ์ต่างๆ แล้วค่อยปรับภาพใหม่อีกครั้ง
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย น่าจะอยู่ภายใต้กรอบ 2.5 - 2.9% ภายใต้เบทเคส และสถานการณ์เศรษฐกิจหากดีกว่าที่คาดไว้ เช่น สงครามมีทางออก และข้อตกลงร่วมกัน นำไปสู่การยุติการใช้กองกำลังทหาร เป็นต้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์