เกษตรกรไทย ตัวประกันแก้ "ปุ๋ยแพง"
กรมการค้าภายในยอมให้ผู้ค้าปุ๋ยขอปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน ทำให้ผู้ค้าปุ๋ยกล้าสั่งนำเข้าแม่ปุ๋ยเพราะมั่นใจว่าจะขายปุ๋ยได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ระยะยาวได้มองถึงการผลิตแม่ปุ๋ยในประเทศ
สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยืดเยื้อมาเกิน 1 เดือน หลังจากรัสเซียเริ่มโจมตีภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 หลังจากนั้นรัสเซียใช้กลยุทธ์บุกล้อมยูเครนยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทันที ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้ากลับมาทำสถิติใหม่ และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก
รวมถึงไทยมีแนวโน้มจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท ไม่ไหวแล้ว และจะทยอยลดการอุดหนุน เช่น ดีเซลเกรดพรีเมียม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ ทองคำ แต่มีผลกระทบต่อราคาข้าวสาลี รวมถึงผลกระทบต่อราคาแม่ปุ๋ยที่ไทยจะต้องนำเข้าจำนวนมาก เพราะไม่สามารถผลิตให้เพียงพอได้
โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์ราคาขายส่งปุ๋ยเคมีภายในประเทศเดือน มี.ค. 2565 ยังคงปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก และแม่ปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญที่เกษตรกรไทยใช้ปริมาณมากพบว่า ราคาในตลาดโลกได้ปรับขึ้นจากปี 2564 มากกว่า 100% เช่น ยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต ฟอสเฟต โพแทสเซียม
ปุ๋ยเคมี ถูกจัดให้เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งทำให้ปุ๋ยเคมีถูกควบคุมให้ผู้ว่าจ้างผลิต ผู้นำเข้า แจ้งราคาและรายละเอียดสินค้า ส่วนลด และห้ามจำหน่ายแตกต่างจากที่แจ้งไว้
ยกเว้นกรณีได้รับอนุญาต และกำหนดให้ผู้จำหน่ายปลีกปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก โดยเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการกำกับดูแลสินค้าปุ๋ยอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกร และมีผลสำคัญต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรเพาะปลูกพืชเกือบทุกชนิด
เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินการแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพง ซึ่งที่ผ่านมากรมการค้าภายใน ได้หารือกับผู้ค้าปุ๋ยหลายรอบแล้ว
จนในที่สุดกรมการค้าภายในยอมให้ผู้ค้าปุ๋ยขอปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน เหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้ค้าปุ๋ยนำเข้าแม่ปุ๋ยเพราะมั่นใจว่าจะขายปุ๋ยได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นได้
ในขณะที่ระยะยาวได้มองถึงการผลิตแม่ปุ๋ยในประเทศ โดยเฉพาะการทำเหมืองโพแทสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เริ่มดำเนินการมานับ 10 ปี แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะถูกคัดค้านมาตลอด แม้ว่าจะมีปริมาณแร่สำรองจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องยากเมื่อรัฐบาลปัจจุบันจะผลักดันอีกครั้ง
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเสนอการดำเนินโครงการเหมืองใต้ดิน แทนการทำเหมืองเปิด ซึ่งท้ายที่สุดการแก้ปัญหาปุ๋ยในครั้งนี้อาจทำอะไรได้ไม่มากและเกษตรกรถูกนำมาเป็นตัวประกันอีกครั้ง