‘สภาพัฒน์’ ชูประโยชน์ 5 ด้าน จากการใช้เทคโนโลยี ‘Metaverse’
เทคโนโลยีโลกเสมือนหรือ “Metaverse” เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนและสังคมมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะมีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างมาก
โดยการคาดการณ์ของ Bloomberg Intelligence ระบุว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของ Metaverse จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต โดยประเมินว่า Metaverse ในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 7.8 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 4.8 แสนล้านดอลลาสหรัฐ ในปี 2563 เช่นเดียวกับ Goldman Sachs ที่คาดว่า Metaverse จะสร้างมูลค่าการตลาดสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในไม่กี่ปีต่อจากนี้
การใช้งานเทคโนโลยี Metaverse อย่างแพร่หลายจะนำไปสู่การใช้งาน Metaverse อย่างมีประโยชน์ในหลายด้าน ซึ่งกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการศึกษา และรวบรวมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์ในด้านต่างไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1.ด้านสังคมและความสัมพันธ์ โดยการใช้ Metaverse ในด้านนี้จะเป็นการติดต่อสื่อสาร การพบปะของผู้คนในการประชุม การนัดเจอ และสังสรรค์ระหว่างบุคคล และกลุ่มคนจะมีความสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดงานเฉลิมฉลองงานพิธีต่างๆ ที่ผู้คนที่อยู่ต่างสถานที่ทั่วโลกมีโอกาสเข้าร่วมงาน และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ในโลกเสมือน
2.ด้านธุรกิจการค้า ผู้ซื้อสินค้าสามารถเลือกชมสินค้าออนไลน์ และพูดคุย สอบถาม อธิบายให้คำแนะนำระหว่างกันได้ อีกทั้งสามารถทดลองสินค้าผ่านตัวแทนผู้ใช้ในโลกเสมือน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อ และเพิ่มโอกาสของผู้ขายผ่าน Virtual mail หรือห้างสรรพสินค้าเสมือน เช่น ญี่ปุ่น มีการเปิดตัว ห้างสรรพสินค้าอิชิตันในรูปแบบห้างเสมือนจริง โดยจำลองจากแผนผังจริงของห้างอิเซตันที่ชินจุกุ ในกรุงโตเกียว ซึ่งมีพนักงานประจำร้านเสมือนจริงคอยให้บริการประจำร้าน และผู้บริโภคสามารถพิมพ์แซทคุยกับพนักงานได้หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
3.ด้านการศึกษา สามารถนำ Metaverse มาใช้ประโยชน์ทั้งการเรียนการสอน และการฝึกอบบรม ซึ่งดีกว่าการเรียนออนไลน์ในรูปแบบปกติ เพราะผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากกว่า โดยมีตัวอย่าง เช่น KAIST (Korea Advanced Institute of Science and Technology) วิทยาเขต Konza Technopolis ประเทศเคนยา ที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง ซึ่งจะสร้างมหาวิทยาลัย Metaverse เพื่อสนับสนุนการจัดหลักสูตร ช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา และลดความจำเป็นของ นักศึกษาและอาจารย์ในการเดินทางไกลระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัย
4.ด้านสุขภาพ ในทางการแพทย์ มีการพัฒนาระบบการรักษาแบบเสมือนจริงในการตรวจรักษา ติดตาม และประเมินพฤติกรรมคนไข้ รวมถึงการนำ AR มาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อให้แพทย์ผ่าตัด ได้แม่นยำขึ้น หรือการซ้อมผ่าตัดเสมือนจริงในการผ่าตัดที่ชับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ตที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่รวมเอาผลลัพธ์จากเครื่อง MRI ซีทีสแกน และการตรวจหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์ มาสร้างเป็นแบบจำลองสามมิติ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยัง สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องเดินทาง และได้รับบริการใกล้เคียงกับการพบแพทย์จริง เช่น กรณีการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยสมาธิสั้น
และ 5.ด้านอุตสาหกรรมเพื่อความบันเทิง โดยสามารถใช้ Metaverse ในการจัดคอนเสิร์ต ชมภาพยนตร์ ชมแฟชั่นโชว์ การแข่งขันกีฬา เช่น ศิลปินระดับโลกอย่าง Justin Bieber หรือ Ariana Grande ได้จัดคอนเสิร์ตเสมือนจริง ในการสร้าง ความบันเทิงให้กับผู้ชมผ่านร่าง avatar แล้ว เป็นต้น
ทั้งนี้ Metaverse เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนและสังคมในไม่ช้า และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 – 2570 ได้มีการกำหนดเป้าหมาย การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ และการเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
Metaverse มีประโยชน์โดยตรงต่ออุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี สินค้าไอทีและ อิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยมีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ที่สามารถต่อยอดจากพฤติกรรมการใช้ดิจิทัลของไทย ช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาในด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว
รวมทั้งสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา รวมทั้งลดอุปสรรคในเรื่องสถานที่และระยะเวลาช่วยสนับสนุนการสร้างงานและอาชีพใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย