กพอ.นัดถกแก้สัญญาไฮสปีดซีพี เยียวยาแอร์พอร์ตลิงก์ถึงโควิดจบ

กพอ.นัดถกแก้สัญญาไฮสปีดซีพี เยียวยาแอร์พอร์ตลิงก์ถึงโควิดจบ

การรถไฟฯ เตรียมเสนอ กพอ.สัปดาห์หน้า แก้สัญญา 2 ประเด็น ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน เร่ง “ซีพี” ลงทุน 9.2 พันล้านบาท สร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงดอนเมือง-บางซื่อ พร้อมยืดจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จนกว่าโควิดจะสงบ แต่ไม่เกิน 7 ปี

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยช่วงที่ผ่านมาเอกชนคู่สัญญาได้เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลต่อจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.2564 ซึ่งนำมาสู่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในขณะนี้ โดยมีการเจรจาร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง ร.ฟ.ท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2565 รับทราบความคืบหน้าการเจรจาร่วม 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ ไฮสปีดเทรน 

รวมทั้งหลังจากนี้จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในช่วงต้นเดือน เม.ย.2565 เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และหากที่ประชุม กพอ.ไม่มีข้อเสนอแนะหรือมีความเห็นเพิ่มเติม จะมีการนำเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่

ชงแก้ไขสัญญา 2 ประเด็น

สำหรับแนวทางแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่ได้ข้อสรุปตรงกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ 

1.การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ โดยเอกชนยอมรับข้อเสนอของภาครัฐในการลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาช่วงดังกล่าวจำนวน 9,207 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.2569 โดย ร.ฟ.ท.จะปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 จากเดิมมีการกำหนดเอกชนต้องก่อสร้างแล้วเสร็จรัฐจึงจะจ่ายค่าก่อสร้าง

อีกทั้งในส่วนของระยะเวลาการชำระจากเดิมภาครัฐต้องทยอยชำระค่าก่อสร้าง 10 ปี จะปรับเป็นเสนอแบ่งชำระ 7 ปีๆ ละเท่ากัน โดยแนวทางนี้เอกชนคู่สัญญาจะต้องยอมลดผลตอบแทนจาก 5.52% เหลือ 5.24% ซึ่งรัฐจะชำระเงินร่วมลงทุน 133,475 ล้านบาท 

รวมทั้งแนวทางดังกล่าว ภาครัฐจะประหยัดงบประมาณได้ 25,362 ล้านบาท จากการประหยัดเงินที่รัฐร่วมลงทุน 16,155 ล้านบาท และไม่ต้องชำระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท โดยภาครัฐจะมีภาระในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงสุด 19,071 ล้านบาท ระยะเวลารวม 7 ปี

2.การยืดชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท เป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% และงวดที่ 7 เอกชนจะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิด-19 ยุติก่อนระยะเวลา 7 ปี ตามประกาศจากรัฐบาลจะมีการประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้น แล้วให้พิจารณาการชำระเงินส่วนที่เหลือ

เหลือพื้นที่ต้องเคลียร์ 20 ไร่

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ประเมินว่าจะสามารถจัดการพื้นที่ต่างๆ แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ ออกใบอนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือน พ.ค.2565 โดย ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าจะไม่ติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าแน่นอน ขณะที่กรณีการเวนคืนหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เหลือนั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งได้ออก พ.ร.บ.เวนคืน และอยู่ในกระบวนการครอบครองที่ดินแล้ว

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ได้สรุปความก้าวหน้าการเตรียมพื้นที่ส่งมอบให้กับเอกชนคู่สัญญาอยู่ที่ 99.43% โดยมีการเวนคืนพื้นที่ การรื้อย้ายสาธารณูปโภคและการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีพื้นที่รวม 3,513 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ของ ร.ฟ.ท.จำนวน 2,594 ไร่ และพื้นที่จากการเวนคืน 919 ไร่ ดังนั้น คงเหลือพื้นที่ 20 ไร่

สศช.แนะแก้สัญญาอย่างโปร่งใส

สำหรับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนครั้งนี้ มีหลายหน่วยงานที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่าในการแก้ไขสัญญาครั้งนี้ ร.ฟ.ท. , สกพอ. และคณะกรรมการกำกับและติดตามโครงการ ควรดำเนินการขั้นตอนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และคำนึงถึงประโยชน์ประชาชน การจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนตามหลักการที่กำหนดในสัญญา

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอความเห็นว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนต้องคำนึงหลักการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ของรัฐและการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ให้เอกชนอย่างเป็นธรรม

ส่วนสำนักงบประมาณเห็นว่าโควิด-19 จะเป็นเหตุผลในการผ่อนผันที่ต้องแก้สัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือไม่นั้น ควรพิจารณาเท่าที่จำเป็นอย่างรอบคอบและโปร่งใส โดยคำนึงต้นทุนค่าเสียโอกาส ภาระทางการคลัง ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทุกมิติ และต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

รวมถึงการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันให้ผู้ประกอบการของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมแก่ผู้ประกอบการทุกราย

สำหรับกระทรวงการคลัง เห็นว่าควรพิจารณาถึงผลกระทบของการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต่อภาระทางการเงินของ ร.ฟ.ท.ในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ รวมถึงผลกระทบที่อาจมีต่อภาระการคลัง ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และต้องไม่กระทบความต่อเนื่องการให้บริการ

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด มีหนังสือชี้แจงผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เห็นว่าโรคโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนการลงนามสัญญา และมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงจึงมีมติเห็นชอบการเยียวผลกระทบโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้กับเอกชนคู่สัญญา