“หุ้นเครื่องดื่ม”มาแรงรับ"หน้าร้อน"ยอดขายพุ่งกระฉูด

“หุ้นเครื่องดื่ม”มาแรงรับ"หน้าร้อน"ยอดขายพุ่งกระฉูด

เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ อุณหภูมิทั่วไทยพุ่งสูงปรี๊ด! อากาศร้อนระอุไปทั้งประเทศ จนหลายพื้นที่อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสไปแล้ว

แน่นอนว่าเมื่ออากาศร้อนๆ แบบนี้ ต้องดับร้อนด้วยเครื่องดื่มเย็นๆ จะได้ดับกระหาย คลายร้อน ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย แถมยังเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ เลยยิ่งหนุนยอดขายเครื่องดื่มพุ่งแรง ถือเป็นช่วงโกยรายได้ประจำปี

ทำให้ “หุ้นเครื่องดื่ม” เป็นอีกหนึ่งธีมที่น่าสนใจประจำหน้าร้อน หากอิงจากสถิติในอดีตจะเห็นว่าพอเข้าฤดูร้อนหรือช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 ของทุกปี ราคาหุ้นกลุ่มเครื่องดื่มมักโชว์ฟอร์มได้ดีรับไฮซีซัน ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าหยิบมาลงทุน

หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มมีอยู่ด้วยกันหลายตัว ทั้ง “หุ้นชาเขียว” หนึ่งในสินค้าขายดีอันดับต้นๆ ของกลุ่มเครื่องดื่ม เจ้าตลาดขณะนี้ยังเป็น “โออิชิ” ของ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI แต่งบการเงินอาจจะต่างไปจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม งวดปี 2564/2565 เริ่ม 1 ต.ค. 2564-30 ก.ย. 2565 โดยช่วงนี้ถือเป็นช่วงไตรมาส 3 (1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2565)

โดยปีนี้โออิชิยังเน้นเทรนด์เพื่อสุขภาพ ทั้งกลุ่มสินค้าไม่มีน้ำตาล และการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยส่วนผสมอย่างน้ำวิตามิน, วาโคฉะที่ช่วยเรื่องการเผาผลาญไขมัน

ส่วนเบอร์ 2 “อิชิตัน” บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ที่ “เสี่ยตัน” ภาสกรนที ออกมาการันตีเองว่าชาเขียวเป็นเครื่องดื่มชนิดเดียวที่เติบโตในปีที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 

ส่วนปีนี้เตรียมเปิดตัวโปรดักส์ใหม่อีกเพียบ แต่ไฮไลท์เห็นจะเป็นเครื่องดื่มผสมกัญชงที่จะเริ่มวางขายในเดือนมิ.ย. นี้ ตั้งเป้ายอดขายปีแรก 200 ล้านบาท

มาธีมรักสุขภาพ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ซึ่งเวลานี้ตลาดที่เป็นพระเอกเห็นจะเป็นต่างประเทศยอดขายพุ่งทำนิวไฮ ขณะที่เครื่องดื่มชูกำลังอย่าง “คาราบาวแดง” บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG แม้กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ได้กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาชดเชย บริษัทจึงมั่นใจว่ายอดขายปีนี้จะเติบโตถึง 30-40%

ขณะที่เจ้าตลาด “M-150” ของกลุ่มบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ M-150 สูตรพรีเมียม พร้อมอัพราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท เพื่อรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น

“หุ้นเครื่องดื่ม”มาแรงรับ\"หน้าร้อน\"ยอดขายพุ่งกระฉูด

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า แนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มเครื่องดื่มรับฤดูร้อน หุ้นเด่น ICHI, SAPPE, CBG และเก็งกำไร (Trading) OSP

โดย ICHI แนวโน้มผลประกอบการสดใส ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 โต 24% ทั้งกลุ่มสินค้าเดิม ชาเขียว, เย็นเย็น, ชิซึโอกะ และสินค้าใหม่ ทั้งน้ำวิตามิน, น้ำอัดแก๊ส, น้ำผสมสารสกัด CBD และไบเล่ย์ ด้านต้นทุนแพคเกจจิ้งที่เพิ่มขึ้น บริษัทมีแผนปรับราคาขายส่งและเร่งยอดขายชดเชย คาดกำไรปี 2565 ที่ 601 ล้านบาท เติบโต 10%

ทั้งนี้ รายได้ 2 เดือนแรกปี 2565 เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มองกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 9% จากไตรมาสก่อน 

ขณะที่ราคาหุ้นซื้อขายที่ระดับ PER ปี 2565 ที่ 25 เท่า ยังต่ำกว่ากลุ่มเครื่องดื่มซึ่งอยู่ที่ 25-33 เท่า ให้ราคาเป้าหมาย 12.50 บาท

ส่วน SAPPE คาดกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ราวๆ 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 96% จากไตรมาสก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากยอดขายในประเทศที่เริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ด้านตลาดต่างประเทศยังทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตรากำไรยังอยู่ในระดับสูงจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ (PET)

ปัจจุบันราคาหุ้นยังถูก ซื้อขายที่ระดับ PER ปี 2565 ที่ 15 เท่า เทียบกับกลุ่มที่ 25-30 เท่า โดยบริษัทมีนโยบายเชิงรุก ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์เดิม ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ อย่างการเข้าลงทุนใน Mintel ซึ่งทำธุรกิจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Digital Transformation จะช่วยต่อยอดธุรกิจของบริษัทด้านการเก็บข้อมูล และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ให้ราคาเป้าหมาย 34 บาท

และ CBG ประเมินกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 17% จากไตรมาสก่อน หลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซันและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดต่างประเทศ คาดกำไรปี 2565 ที่ 3,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%

โดยยอดขายจากการรับจ้างจัดจำหน่ายยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ในจีนคาดเติบโตสูงจากการวางกลยุทธ์และแผนการตลาดที่เข้มข้นขึ้น ยอดขายกลุ่มซีแอลเอ็มวี (CLMV) ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน 

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงแผนเชิงรุกทั้งการขยายตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Energy Drink Plus และเครื่องดื่มผสมสารสกัด CBD ทั้งนี้ ราคาหุ้นที่ปรับฐานลงมารับผลกระทบจากต้นทุนไปมากแล้ว จนซื้อขายที่ระดับ PER ปี 2565 ที่ 29 เท่า ให้ราคาเป้าหมาย 118 บาท