นายกฯจี้แก้ปมขนสินค้าเกษตรผ่านรถไฟไปจีน

นายกฯจี้แก้ปมขนสินค้าเกษตรผ่านรถไฟไปจีน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พอใจที่แผนการบริหารจัดการด้านขนส่ง (โลจิสติกส์) ของสินค้าเกษตรของไทยประสบผลสำเร็จไปด้วยดี จากการทดสอบขนส่งทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ และมะพร้าวจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พอใจที่แผนการบริหารจัดการด้านขนส่ง (โลจิสติกส์) ของสินค้าเกษตรของไทยประสบผลสำเร็จไปด้วยดี จากการทดสอบขนส่งทุเรียน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ และมะพร้าวจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟ ซึ่งมีการปล่อยขบวนรถเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา จากสถานีรถไฟมาบตาพุต จังหวัดระยอง ผ่านลาวไปจีน ภายใต้พิธีสารผลไม้ไทย-จีน ด้วยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าประสานการทำงานร่วมกับ สปป.ลาว และเวียดนามในโครงการขนส่งผ่านท่าเรือหวุงอ๋างทางด่านนครพนม ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยเส้นทางขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรดังกล่าวมีระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร ซึ่งสินค้าจะออกจากด่านนครพนม-ด่านท่าแขกแขวงคำม่วนของลาว เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ จังหวัดกว๋างบิ่ญ โดยมีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จังหวัดฮาติงห์ หลังจากนั้นจะลงเรือสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางที่จีน เพื่อย่นระยะทางและเวลาในการขนส่ง

ซึ่งเป็นไปตามนโยบายอีสานเกตเวย์ และระเบียงเศรษฐกิจอีสาน ภายใต้การบริหารโลจิสติกส์เกษตรของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์รัฐบาลประสานความร่วมมือกับประเทศอาเซียนและจีน เชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ระหว่างไทย ลาว เวียดนาม และจีน เพื่อลดอุปสรรคด้านระยะทางในการขนส่ง

พร้อมกับสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสินค้าทางการเกษตรของไทยให้มีโอกาสค้าขายกับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และประชากรมีกำลังในการซื้อสูงได้ในหลายด้าน นอกจากนี้ การเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางการเกษตรจะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรของไทย ลดระยะทางและระยะเวลา เพื่อประโยชน์ให้เกษตรกรไทยได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ในวันที่ 7 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาทั้งกระบวนการ หลังพบว่า การขนส่งยังมีความล่าช้ากว่าเป้าหมาย รวมทั้งการจัดการเรื่องพิธีการเอกสารของหน่วยงานต่างๆ และการตรวจสินค้าให้เร็วขึ้น ไม่ให้สินค้าเสียหาย โดยมุ่งหวังให้ปริมาณการขนส่งผลไม้บนเส้นทางหนองคาย-เวียงจันทน์-บ่อเตน-โมฮ่าน เพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกของการขนส่งผลไม้ไทยไปจีน