ผู้บริโภคเตรียมรับมือ”ของแพง”หลังสงกรานต์

ผู้บริโภคเตรียมรับมือ”ของแพง”หลังสงกรานต์

“เผือกร้อน” กรมการค้าภายใน ปมราคาสินค้า หลังผู้ประกอบการแห่ขอปรับราคาสินค้า จากราคาน้ำมันพุ่ง กระทบต้นทุนการผลิตส่วนผู้บริโภคเตรียมใจ”ของแพง”

สถานการณ์ ราคาน้ำมันโลก ที่ปรับสูงขึ้นเกินกว่า  100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความขัดแย้งระหว่าง รัสเซียและยูเครน เป็นวิกฤตซ้ำเติมปัญหาราคาสินค้าของไทยให้แพงขึ้นไปอีกเพราะน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจ่อปรับราคาสินค้าขายปลีกหลายรายการในเดือนเม.ย.นี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และ สินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่สด ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด  เครื่องประกอบอาหาร และอาหารปรุงสำเร็จ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ 

ล่าสุด ราคาก๊าซหุงต้ม ก็ปรับขึ้นมีผลบังคับ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา  ทำให้เกิดความกังวลว่าอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารปรุงสุกจะขึ้นราคตามไปด้วย เพราะราคาสินค้าที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ พ่อค้า แม่ค้า ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นขณะที่รายได้เท่าเดิมหรืออาจลดลง 

กระทรวงพาณิชย์ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลราคาสินค้า จะเสียง”แข็ง”ไม่ยอมให้ปรับราคาสินค้า

โดยมีการขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าใน 18 หมวด  ประกอบด้วย 

  1. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 
  2. หมวดอาหารสด
  3. อาหารกระป๋อง
  4. ข้าวสารถุง
  5. ซอสปรุงรส
  6. น้ำมันพืช
  7. น้ำอัดลม
  8. นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  9. เครื่องใช้ไฟฟ้า
  10. ผลิตภัณฑ์ซักล้าง
  11. ปุ๋ย
  12. ยาฆ่าแมลง
  13. อาหารสัตว์
  14. เหล็ก
  15. ปูนซีเมนต์
  16. กระดาษ
  17. ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์
  18. บริการผ่านห้าง ค้าปลีก-ส่ง 

อย่างไรก็ตามกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมายอมรับว่า ผู้ประกอบการหลายรายขอปรับราคาสินค้าต่อกรม แต่ขณะนี้กรมฯ ก็ขอความร่วมมือให้ช่วยตรึงราคาต่อไปก่อน ปัจจุบันไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาแม้แต่รายเดียว  ซึ่งทางกรมกรมฯ ก็ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทุกวัน โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจสถานการณ์ราคาสินค้าทั้ง กทม. และต่างจังหวัด  

ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 5-10 % จากช่วงปกติ ก็ยิ่งเกิดความกังวลว่า สินค้าที่จำเป็นสำหรับการครองชีพจะปรับตัวขึ้นไปอีก ทำให้กรมการค้าภายในเชิญผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกและค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อมาหารือมาร่วมประชุมเพื่อขอความร่วมมือห้ามปรับขึ้นราคาสินค้า และให้เพิ่มสต็อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล    คาดว่าหลังสงกรานต์ จะมีสินค้าหลายรายการปรับขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน

ไม่เฉพาะแค่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทนแบกภาระต้นทุนไม่ไหว ผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวสาลี ต่างก็ร้องขอต่อกรมการค้าภายในขอปรับราคาอาหารสัตว์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลกพุ่งขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน เพราะเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ทำให้ต้นทุนนำเข้าข้าวสาลีสูงขึ้นมาก จึงมีแนวคิดที่จะยกเว้นมาตรการ 3:1 คือ การนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน  

ปัจจุบันแนวทางการแก้ไขปัญหา ก็ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังคุยกันไม่จบ  ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 1/2565 เพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านก็ไร้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร ทำให้ต้องมีการนัดประชุมทุกสมาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปได้ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ก่อนจะเสนอให้ นบขพ.เคาะอีกครั้ง 

นอกจากนี้ “ปุ๋ย” ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเกษตร ก็มีราคาพุ่งสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ก็ยื่นขอปรับราคาต่อกรมการค้าภายในแล้ว ล่าสุดมี มีผู้ประกอบการ 2 รายยื่นขอปรับราคา แต่ยังไม่ได้มีการอนุมัติให้ปรับราคา อยู่ระหว่างการพิจารณาต้นทุน  

การแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงในประเทศถือเป็นปัญหาที่”แก้ยาก”เพราะกระทบไปทุกภาคส่วน หากไฟเขียวขึ้นราคา ผู้บริโภคก็เดือดร้อน แต่ไม่อนุญาตให้ขึ้นราคาผู้ผลิตก็เดือดร้อน แต่กรมการค้าภายในจะฝืนกลไกตลาดการไม่ได้แค่ไหน เพราะต้องยอมรับความจริงต้นทุนวัตถุดิบสินค้าพุ่งสูงขึ้นมากในยุคนี้   ที่ผ่านมาเมื่อราคาสินค้าขึ้นแล้ว ลงยาก จึงเป็น”เผือกร้อน”สำหรับกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องแก้ปัญหาให้เป็นที่”ถูกใจ”กับทุกฝ่าย