เปิดเส้นทางโมโนเรลน้องใหม่ เชื่อมบางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
กทม. เร่งสรุปผลรถไฟฟ้าโมโนเรลสายใหม่ "บางนา-สุวรรณภูมิ" หวังช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนบางนา-ตราด เพิ่มทางเลือกนักท่องเที่ยวเดินทาง คาดจะเปิดให้บริการปี 2572
เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเปิดโรดแมพผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) หรือ โมโนเรล สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เส้นทางใหม่ที่มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการภายในปี 2572 สร้างทางเลือกใหม่ในการเดินทางให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า ขณะนี้ กทม.ได้ศึกษาข้อมูลโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ
โดยการศึกษาในเบื้องต้นโครงการระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งหมด 14 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี ได้แก่
- สถานีบางนา
- สถานีประภามนตรี
- สถานีบางนา-ตราด 17
- สถานีบางนา-ตราด 25
- สถานีวัดศรีเอี่ยม
- สถานีเปรมฤทัย
- สถานีบางนา-ตราด กม.6
- สถานีบางแก้ว
- สถานีกาญจนาภิเษก
- สถานีวัดสลุด
- สถานีกิ่งแก้ว
- สถานีธนาซิตี้
ระยะที่ 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี ได้แก่
- สถานีมหาวิทยาลัยเกริก
- สถานีสุวรรณภูมิใต้
โดยโครงการแบ่งรูปแบบของสถานีไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้
ประเภท A สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 17 สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย สถานีบางนา-ตราด 6 สถานีบางแก้ว สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว สถานีมหาวิทยาลัยเกริก สถานีสุวรรณภูมิใต้
ประเภท B สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ โครงการจำเป็นต้องออกแบบสถานีให้รองรับด้วยโครงสร้างเสาคู่ มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีกาญจนาภิเษก สถานีธนาซิตี้
ประเภท C สถานีระดับดิน จะออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน สามารถเดินเชื่อมกับสถานีบางนาของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ด้วยสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) มีจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา
สำหรับรูปแบบของการพัฒนาโครงการ เป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป – กลับ 1 ชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000 - 30,000 คนต่อชั่วโมง
ส่วนอัตราค่าโดยสาร กำหนดให้ค่าโดยสารในปีเปิดให้บริการ หรือในปี 2572 มีอัตราค่าแรกเข้า 14.4 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง คือ 2.6 บาทต่อกิโลเมตร โดยมีเพดานค่าโดยสารสูงสุด 45.6 บาท ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2572 ที่เปิดใช้ปริการประมาณ 82,695 คนเที่ยวต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คนเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณีมีการเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนเที่ยวต่อวัน
ทั้งนี้ กทม.กำหนดไทม์ไลน์ในการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะจัดส่งรายงานสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการนี้ เพื่อนำเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและให้ความเห็นชอบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ส่วนขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1.5 ปี จากนั้นขั้นตอนการก่อสร้างและทดสอบระบบใช้เวลาประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2568 – 2571 โดยคาดว่าโครงการจะสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 1 ได้ในปี 2572