พาณิชย์ เตรียมชง กนศ.-ครม.ไฟเขียวทำเอฟทีเอไทย-เอฟตา
‘พาณิชย์’ เตรียมชง กนศ. - ครม. ไฟเขียว กรอบเจรจาเอฟทีเอฉบับใหม่ล่าสุด “ไทย-เอฟตา”หวังเพิ่มแต้มต่อสินค้าไทยในตลาดเอฟตา และกรอบเจรจา “อัพเกรด” เอฟทีเอของอาเซียน และอาเซียนกับจีน อินเดียเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หลังบังคับใช้มานานแล้ว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ กรมเตรียมเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พิจารณาเห็นชอบกรอบเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-เอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป สมาชิกประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) และกรอบการเจรจาเพื่อทบทวนหรือยกระดับเอฟทีเอของอาเซียน (เขตการค้าเสรีอาเซียน) และของอาเซียนกับคู่เอฟทีเอสำคัญ ทั้ง จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ คาดจะเสนอกนศ.ในเดือนเม.ย.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
สำหรับกรอบการเจรจาดังกล่าว กรมได้จัดประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อรับฟังความเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากครม.เห็นชอบ กรมฯ จะแจ้งฝ่ายเอฟตา เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาจัดทำเอฟทีเอต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสสินค้าและบริการของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดเอฟตา และช่วยดึงดูด นักลงทุนเข้ามาไทย
“เอฟตาเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมายทำเอฟทีเอของไทย เพราะมีนโยบายการค้าเสรี กำลังซื้อสูง มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นนักลงทุนที่สำคัญ การทำเอฟทีเอนี้ จะช่วยเพิ่มแต้มต่อ และโอกาสการแข่งขันของสินค้าและบริการไทยในตลาดเอฟตา และดึงดูดนักลงทุนเอฟตาให้เข้ามาไทย โดยเฉพาะสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง”
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 60-64) มูลค่าการค้าไทย-เอฟตาเฉลี่ยปีละ 10,010 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 4,540 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้า 5,470 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง ส่วนสินค้า นำเข้าสำคัญ อาทิเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับการ บริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
ส่วนการยกระดับเอฟทีเออาเซียน และอาเซียนกับคู่เอฟทีเอนั้น ก็เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัย รองรับประเด็นการค้าใหม่ๆ และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ฯลฯ เพราะเอฟทีเอบางฉบับบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 48 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยได้หารือกับคู่เอฟทีเอ เพื่อเปิดตลาด ลดและยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มเติม รวมทั้งแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยมากขึ้น