แผน “รถไฟฟ้าโมโนเรล” โครงข่ายชานเมือง-กลางเมือง

แผน “รถไฟฟ้าโมโนเรล” โครงข่ายชานเมือง-กลางเมือง

รฟม.และกรุงเทพมหานคร กางแผนลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรลรวม 3 สาย หวังเป็นโครงข่ายรองหนุนการเดินทางชานเมืองเข้ากรุงเทพฯ

เตรียมเปิดให้บริการในปีนี้แล้ว สำหรับ 2 โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโครงข่ายใยแมงมุม เชื่อมการเดินทางจากชานเมืองสู่พื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าจะทำให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น ด้วยการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า กะเวลาได้แม่นยำ หลีกหนีปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นอกจากเร่งรัดงานก่อสร้างโมโนเรลทั้งสองสายข้างต้น ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยสายสีชมพู ความก้าวหน้างานโยธา 88.16% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 84.92% และความก้าวหน้าโดยรวม 86.51% ส่วนสายสีเหลืองมีความก้าวหน้างานโยธา 92.48% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 90.67% และความก้าวหน้าโดยรวม 91.70%

ปัจจุบัน รฟม.ยังมีแผนศึกษาขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าโมโนเรล เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน และสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเปิดจ้างที่ปรึกษาทบทวนและปรับปรุงรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ พร้อมจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม)

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล การศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้นจะพัฒนาเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ จำนวน 20 สถานี ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร ผลการศึกษาเบื้องต้นประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 48,386 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 20,864 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบ 19,013 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,255 ล้านบาท

โดย โมโนเรลสายสีน้ำตาล จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย ประกอบด้วย

  • สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู
  • สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง
  • สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว
  • สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา
  • สถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีส้ม

เบื้องต้น รฟม.คาดการณ์ว่าปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารราว 2.18 แสนคนเที่ยวต่อวัน

แผน “รถไฟฟ้าโมโนเรล” โครงข่ายชานเมือง-กลางเมือง

ชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยด้วยว่า กทม.อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวก และเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้สมบูรณ์ และครอบคลุมมากขึ้น โดยโมโนเรลสายนี้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ภายใต้ชื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 5 สาย ได้แก่ สายสีชมพู ที่สถานีวัชรพล, สายสีน้ำตาล ที่สถานีคลองลำเจียก, สายสีเหลือง ที่สถานีฉลองรัช, สายสีส้ม ที่สถานีพระราม 9 และสายสีเขียว ที่สถานีทองหล่อ

อย่างไรก็ดี ตามแผนดำเนินงานคาดว่าจะจัดทำรายงานผลการศึกษา และวิเคราะห์โครงการ ตลอดจนรูปแบบการลงทุน แล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ใช้เวลาในขั้นตอนเหล่านี้ราว 8-9 เดือน ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในปี 2566 หลังจากนั้นปี 2567 - 2568 จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เป้าหมายเปิดบริการปี 2573

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ประเมินวงเงินลงทุนเบื้องต้นราว 2.78 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตอบแทนและการชดเชยการใช้ที่ดิน 2.05 พันล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา-งานระบบรถไฟฟ้า-งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 2.31 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 100 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน 836 ล้านบาท ค่าออกแบบ 462 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำรอง 1.32 พันล้านบาท

โดยจากผลการศึกษาประมาณการณ์อัตราผลตอบแทนภายในทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่ 19.75% ระยะเวลาคืนทุน 29 ปี ระยะเวลาสัมปทานอยู่ระหว่างพิจารณาในช่วง 30-50 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีแรกที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสาร 9.7 หมื่นคนเที่ยวต่อวัน รายได้ประมาณ 2.6 ล้านบาทต่อวัน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2577 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 1.61 แสนคนเที่ยวต่อวัน สร้างรายได้ 3.8 ล้านบาท

ทั้งนี้หากประมาณการณ์ในระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี หรือในปี 2602 คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 2.49 แสนคนเที่ยวต่อวัน สร้างรายได้ 14.1 ล้านบาท และหากสัมปทาน 50 ปี หรือในปี 2622 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 3.7 แสนคนเที่ยวต่อวัน รายได้ 35.8 ล้านบาท ภายใต้อัตราค่าโดยสารแรกเข้าเริ่มต้นที่ 16 บาท จากนั้นคิดตามระยะทาง 2.7 บาทต่อกิโลเมตร

ขณะเดียวกัน กทม.ยังศึกษาพัฒนาโมโนเรลสายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ทั้งหมด 14 สถานี วงเงินลงทุนรวม 39,380 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เป็นทางเลือกให้กับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ อย่างสะดวก ซึ่งโมโนเรลสายนี้จะสามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000 - 30,000 คนต่อชั่วโมง

สำหรับแผนการดำเนินงาน กทม.จะส่งรายงานสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนเสนอกระทรวงมหาดไทย และนำเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติโครงการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ส่วนขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1.5 ปี จากนั้นขั้นตอนการก่อสร้างและทดสอบระบบใช้เวลาประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2568 – 2571 

แผน “รถไฟฟ้าโมโนเรล” โครงข่ายชานเมือง-กลางเมือง

โดยคาดว่าโครงการจะสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ได้ในปี 2572 ประกอบไปด้วย สถานีบางนา สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 17 สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย สถานีบางนา-ตราด กม.6 สถานีบางแก้ว สถานีกาญจนาภิเษก สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว และสถานีธนาซิตี้

ทั้งหมดล้วนเป็นความเคลื่อนไหวของแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่สองหน่วยงาน รฟม. และ กทม.เห็นพ้องกันถึงการลงทุนรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ โมโนเรล ที่จัดใช้งบประมาณไม่สูงเท่ากับรถไฟฟ้าระบบ Heavy Rail แต่สร้างโอกาสการเดินทางให้กับประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองสู่กรุงเทพฯ