ส่งเสริม "เทคโนโลยี" สร้าง "เกษตรกรรุ่นใหม่"
ชวนคิดรอบด้าน เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร สร้างจูงใจที่ทำให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรมไทย
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยมีจำนวนผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ในสัดส่วนที่สูงกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ผ่านมาหลายฝ่ายพยายามสร้างความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น ระบบการออม การจ้างงาน แต่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ และผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยเข้าสู่ลักษณะแก่ก่อนรวย หรือมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะดูแลตัวเองในช่วงสูงวัย
สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุครอบคลุมไปถึงภาคการเกษตร ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่าในปี 2560 มีจำนวนครัวเรือนเกษตร 5.9 ล้านครัวเรือน มีสมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ 4.04 คน ขนาดแรงงาน 2.88 คนต่อครัวเรือน อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตร คือ 56 ปี และมีผู้สูงอายุสูง (65 ปีขึ้นไป) 12.48% ของประชากรภาคเกษตรทั้งหมด ซึ่งจะเห็นเกษตรกรกลุ่มนี้มีการผลิต การออม และการลงทุนลดลง รวมทั้งมีแนวโน้มเปลี่ยนไปทำการเกษตรที่ใช้แรงงานลงหรือใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
นอกจากนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับอาชีพเกษตรกร คือ งานภาคเกษตรไม่มีสวัสดิการ รายได้เกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ และการขาดปัจจัยการผลิตหรือทุนในการผลิต ซึ่งการจะแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุในภาคการเกษตรจะต้องมองให้ครบทุกด้าน เพื่อสร้างแรงจูงใจเข้าสู่ภาคการเกษตร เช่น การสร้างระบบสวัสดิการให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องมาดูว่าระบบสวัสดิการปัจจุบันเหมาะสมกับเกษตรกรหรือไม่ เช่น การประกันตนตามมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคม
ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสร้างเกษตรกรอัจฉริยะรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer เพื่อดึงลูกหลานของเกษตรกรให้กลับเข้าสู่ภาคการเกษตร ซึ่งการทำงานภาคเกษตรที่ใช้แรงงานมากในอดีตเป็นปัจจัยที่ผลักดันคนรุ่นใหม่ในครอบครัวเกษตรกรหันหลังให้กับภาคการเกษตร ดังนั้นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตรการมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้าสู่อาชีพเกษตรกรได้ ซึ่งต้องได้แรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและการเปลี่ยนกรอบความคิดของเกษตรกร
เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยจะเข้ามาช่วยเหลือได้ทั้งในส่วนการผลิต เช่น โดรน แอปพลิเคชัน รวมทั้งช่วยเหลือได้ทั้งในส่วนการตลาด เช่น การค้าออนไลน์ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่แพร่หลายมากนัก และจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมทั้งในด้านองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุน โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรไทยมีความเข้มแข็งแข่งกับสินค้าเกษตรต่างประเทศได้